1

คณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้นำเยาวชนเที่ยวสนุก เรียนรู้-สัมผัส ประวัติศาสตร์การบิน ที่ “พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ”

คณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้นำเยาวชนเที่ยวสนุก เรียนรู้-สัมผัส ประวัติศาสตร์การบิน ที่ “พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ”

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ นำ 20 หน่วยงาน จัดกิจกรรมส่งเสริมโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ 64 กิจกรรม ในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 223 แห่ง มุ่งเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนสู่ยุค Thailand 4.0 ภายใต้แนวคิดการจัดกิจกรรมในรูปแบบ STEM Education ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 พร้อมนำเยาวชนเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ” ของกองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหม

“เครื่องบิน” ทุกคนคงเห็นบนท้องฟ้าอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินโดยสารหรือเครื่องบินชนิดอื่นๆ แต่จะมีสักกี่คนที่มีโอกาสได้เข้าใกล้ ไปสัมผัส หรือสำรวจทุกซอกมุมของเครื่องบิน

สำหรับสำหรับเด็ก เยาวชน คนไทยทั้งประเทศสามารถทำได้แน่ ๆ ที่ “พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ” ซึ่งตั้งอยู่ที่ กม.24 ถ.พหลโยธิน ใกล้กับสนามบินดอนเมือง ที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้ามาเยี่ยมชมและสัมผัสกับเครื่องบินอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าตั้งแต่ยุคพี่น้องตระกูลไรท์ มาจนถึงรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีประจำการในปัจจุบัน

ภายในยังจัดกิจกรรมการบินให้เด็ก เยาวชน ที่จะมากับโรงเรียน หรือมาเป็นครอบครัว รวมทั้งประชาชนที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และร่วมสนุก มากมาย อาทิ กิจกรรมการประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษ กิจกรรมวาดภาพระบายสี กิจกรรมจรวดขวดน้ำ และกิจกรรมเครื่องบินวิทยุบังคับ ฯลฯ “พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ” จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนรักเครื่องบินที่น่าหาโอกาสไปเที่ยวชมสักครั้ง

นาวาอากาศเอกไพฑูรย์ ไล้เลิศ ผู้อำนวยการกองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหารกรมสารบรรณทหารอากาศ กล่าวถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เพื่อรวบรวมและจัดแสดงยุทธภัณฑ์และสันติภัณฑ์ทุกประเภทตามยุคตามสมัย เพื่อเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง มีทั้งอากาศยานที่ปลดประจำการและหาดูได้ยาก อาทิ เครื่องบินขับไล่แบบที่ 10 (ฮอว์ค 3) เครื่องฝึกแบบที่ 6 (ทาชิกาวา) เครื่องบินแบบ ทอ.5 ที่กองทัพอากาศสร้างและทดลองบินเป็นผลสำเร็จ เป็นต้น บางลำก็เคยเข้าร่วมปกป้องอธิปไตยจนนักบินได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ และทางกองทัพอากาศยังได้ปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้มีความสมบูรณ์ และเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านประวัติของกองทัพต่อไป

“ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศจึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบ STEM Education ที่บูรณาการความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (Science) คณิตศาสตร์ (Mathematics) เทคโนโลยี (Technology) และวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น การสาธิตเครื่องบินบังคับวิทยุ การประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษ หรือจรวดขวดน้ำ โดยเบื้องต้น คือ เพื่อให้น้องๆ เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการบินเบื้องต้นและสร้างแรงบันดาลใจด้านการบิน โดยวิทยากรจะให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ทางกลศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การบิน เราจะให้น้องๆ ได้เรียนรู้ฟังก์ชั่นการทำงานของเส้นลวด เส้นเชือก สลิงข้อต่อต่างๆ ให้ทดลองหัดบังคับทิศทาง แล้วจึงค่อยๆ สอดแทรกความรู้เข้าไป ด้วยการตั้งคำถาม ให้คิด ให้เทคนิควิธีคิดต่างๆ พูดคุยและฝึกปฏิบัติร่วมกันอย่างสนุกสนาน”

น้องบอส – ด.ช. พลพิสิฏฐ์ ฤทธิ์คำรพ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เล่าว่า “ผมทึ่งมากครับที่ได้มาที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ เพราะมีประวัติศาสตร์ด้านการบินของกองทัพอากาศไทยไว้ให้ศึกษามากมายเลยครับ ตื่นเต้นมากตอนที่รู้ว่าเครื่องบินลำแรกที่คนไทยสร้างขึ้นมาเองชื่อบริพัตร และยิ่งได้เห็นของจริงก็ยิ่งตื่นเต้นครับ นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีเครื่องบินหลายชนิดจอดแสดงไว้ให้ได้ขึ้นไปลองนั่ง ได้จับต้อง ได้สัมผัส และยังมีให้ฝึกเครื่องบินวิทยุบังคับด้วยประทับใจจริงๆ ครับ”

น้องมาร์ค – ด.ช.ธนากร จตุรภัทร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กล่าวว่า “สำหรับกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ที่ได้พานักเรียนออกมาเรียนรู้เรื่องราวของการบินที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ผมชอบมากที่สุดเลยครับ อย่างแรกเพราะทำให้ผมรู้ว่าประเทศไทยเรามีสถานที่เก็บเครื่องบินประเภทต่างๆไว้เยอะมาก และยังได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์กองทัพอากาศและการบิน การบังคับเครื่องบิน ลักษณะที่แตกต่างกันของเครื่องบิน และที่สำคัญคือได้มาสัมผัสและเรียนรู้จากของจริงด้วย ที่นี่มีอะไรที่น่าสนใจให้เข้ามาเรียนรู้และร่วมทำกิจกรรมเยอะนะครับ ทั้งการได้เล่นเครื่องบินฝึกจำลอง ดูเครื่องบินโจมตี เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ สนุกมากครับ”

น้องวิคเตอร์ – ด.ช.ตุลย์ตรี ไทยผดุงพานิช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศครับ วันนี้ได้ความรู้เยอะและสนุกมากจริงๆ ครับ ที่ประทับใจและดีใจที่สุดคือ มีโอกาสได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของจริง เพราะเป็นความฝันของผมเลยครับ ทำให้ผมอยากเป็นนักบินและได้ขับเครื่องบินของจริงเลยครับ นอกจากนี้ ยังได้เห็นเครื่องบินทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่หลายลำด้วยครับ”

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอเข้าชมได้ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ วันกองทัพไทย และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ติดต่อสอบถามโทร 0 2534 1854, 0 2534 1764 โดยภายใน “พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ” แบ่งสัดส่วนพื้นที่ไว้ดังนี้

อาคาร 1 จัดเครื่องบินรบหลากหลายรูปแบบที่เคยประจำการในกองทัพอากาศ อากาศยานที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทย ประวัติการบินไทย และจัดแสดงเครื่องบินประเภทต่างๆ รวมทั้งเครื่องบินรบที่มีสมรรถนะสูง

อาคาร 2 จัดแสดงอากาศยานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ที่มีคุณค่าหลายลำ อาทิ เครื่องบินโจมตี เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งบางลำเหลือเพียงเครื่องเดียวในโลก และยังมีเครื่องบินแบบแรกที่คนไทยออกแบบและสร้างเอง รวมทั้งมีห้องสมุดประวัติศาสตร์ด้านการบิน

อาคาร 4 จัดแสดงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบิน เครื่องแบบทหารอากาศทั้งในอดีตและปัจจุบัน อาวุธปืนต่างๆ เครื่องบินฝึกจำลอง มีห้องปรับบรรยากาศความกดดันต่ำ จำลองสภาพบรรยากาศความกดดันต่ำเพื่อการศึกษา รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพับเครื่องบินกระดาษ จรวดขวดน้ำ การเล่นโดรนหรือเครื่องบินบังคับวิทยุ

อาคาร 5 จัดแสดงเฮลิคอปเตอร์แบบต่างๆ อาทิ เฮลิคอปเตอร์แบบเบลล์ 212 ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง

สำหรับข้อมูลกิจกรรมสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ www.okmd.or.th/MuseAndLearn2U หรือติดตามความคืบหน้าของกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.facebook.com/MuseAndLearn2U สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี โทร. 02-105-6530