รู้จักห้องเรียนต้นแบบแห่งการค้นหาและนำเสนอคำตอบ
รู้จักห้องเรียนต้นแบบแห่งการค้นหาและนำเสนอคำตอบ
หากพูดถึงประเทศที่น่าไปศึกษาต่อทั่วโลก หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของประเทศนิวซีแลนด์อยู่ในอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน จากผลสำรวจของเว็บไซต์ “educations.com” ล่าสุดปี 2019 หัวข้อเรื่อง “Top 10 countries to study abroad” ซึ่งได้สอบถามนักศึกษาหลากหลายประเทศทั่วโลก จำนวน 20,000 คน พบว่า “นิวซีแลนด์” เป็นประเทศจุดหมายปลายทางด้านการศึกษาอันดับหนึ่ง และยังได้รับการยกย่องว่ามีหลักสูตรและวิธีการคิดที่เน้นไปที่การประสบผลสำเร็จในชีวิตและอาชีพ
ทำไมการศึกษาของนิวซีแลนด์ติดอันดับต้นๆ ของโลกทั้งที่เป็นประเทศเล็กๆ ตามไปดูที่นิวซีแลนด์เขามีการเรียนการสอนเป็นอย่างไร นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้จัดการตลาด หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ที่นิวซีแลนด์เด็กส่วนใหญ่เริ่มเข้าโรงเรียนตอนอายุ 5 ปี แต่ไม่จำเป็นต้องเริ่มเรียนในโรงเรียนจนอายุ 6 ปีซึ่งเป็นภาคบังคับของประเทศที่นักเรียนอายุ 6-16 ปีต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยโรงเรียนทุกแห่งเป็นไปตามมาตรฐาน และการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ ซึ่งการศึกษาของนิวซีแลนด์จะเน้นให้เด็กทำกิจกรรม ไม่มุ่งเน้นเฉพาะด้านวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องการให้เด็กมุ่งสร้างทักษะและค้นพบสายอาชีพที่ตัวเองอยากทำงาน เปิดโอกาสให้นักเรียน ออกความคิดเห็นในชั้นเรียน ให้เด็กกล้าแสดงออก วิเคราะห์เนื้อหา และทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อให้เด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยนิวซีแลนด์จะให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่
ห้องเรียนแห่งการค้นหาและนำเสนอคำตอบ
ห้องเรียนที่นิวซีแลนด์จะมีจำนวนนักเรียนไม่เยอะ โดยโรงเรียนจะพยายามให้นักเรียนต่อชั้นไม่เกิน 25 คนต่อชั้นเพื่อคุณครูสามารถดูแลและเอาใจใส่นักเรียนและให้แนวทางการเรียนได้อย่างใกล้ชิด เพราะการเรียนของนิวซีแลนด์จะเน้นรูปแบบให้โจทย์คำถามและให้นักเรียนค้นหาคำตอบมานำเสนอ ครูจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษา แต่จะไม่เข้าไปแทรกแซงระบบการค้นหาคำตอบของนักเรียน นักเรียนจะมีความกล้าในการยกมือซักถามและตอบคำถามของครู ซึ่งจะเอื้อแก่การเรียนรู้ ในโรงเรียนก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบการเรียนโดยมีการนำเกมส์มาให้นักเรียนเล่นซึ่งเป็นเกมส์สำหรับการศึกษาเช่นเกมส์การแก้ไขปัญหาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เกมส์การเรียนรู้เรื่องอวกาศเป็นต้น
ห้องเรียนแห่งการเสริมสร้างทักษะ
การจัดโต๊ะในห้องจะเอาโต๊ะมาชนกันเพื่อนั่งเป็นกลุ่ม จะไม่มีการแบ่งแยกเด็กเก่งหรือ gifted ออกไปอีกห้อง แต่ให้นั่งรวมกันเพราะครูนิวซีแลนด์เชื่อว่าเด็กมีความเก่งหรือความถนัดแตกต่างกันในแต่ละด้าน เด็กๆจะสามารถช่วยเหลือกันและกันในทักษะที่แต่ละคนมีได้ นักเรียนจะร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยกันทำงานมากกว่าจะทำแต่งานตัวเอง ซึ่งสภาพแวดล้อมเหล่านี้ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในอนาคตได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และอื่นๆ อีกมากมาย
ห้องเรียนแห่งความภูมิใจ
ในห้องเรียนของนิวซีแลนด์จะให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลงานนักเรียน จะสังเกตุเห็นว่ารอบห้องจะติดผลงานในวิชาต่างๆ ของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น งานถ่ายภาพ งานประดิษฐ์ หรือการเอาสมุดรายงานต่างๆ ของนักเรียนมาวางไว้รอบห้องเพื่อให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในการเรียนรู้ของตัวเอง ที่นิวซีแลนด์ ทุกพื้นที่ในห้องเรียนสามารถใช้เป็นสื่อแห่งการเรียนรู้ ครูจะไม่มองว่าห้องเรียนต้องเก็บเป็นระบียบของต้องอยู่แต่บนชั้น แต่ทั้งเพดาน ชั้นวางของ ทุกสิ่งเอามาประกอบกันเป็นพื้นที่แห่งการสร้างความภาคภูมิใจของเด็กทุกคนได้ แม้ห้องจะดูเลอะเทอะแต่ครูจะบอกว่าในความรกและเลอะเทอะ คือความคิดสร้างสรรค์และการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ของนักเรียน
ห้องเรียนแห่งการสร้างพื้นฐานอาชีพ
การเรียนรู้ที่นิวซีแลนด์เป็นระบบที่ลงมือปฏิบัติจริง นักเรียนจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีเพื่อเสริมสร้างฐานความคิดและมาต่อยอดด้วยการลงมือทำ โดยเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมจะมีวิชาที่หลากหลายให้เลือกตามความชอบและความถนัด และมีวิชาสายอาชีพที่สร้างพื้นฐานอาชีพให้นักเรียนได้ อย่างเช่นวิชาสายเทคโนโลยี ซึ่งมีทั้งงานช่างไม้ ช่างเหล็ก งานด้านแฟชั่นดีไซน์ งานกราฟฟิกดีไซน์ งานคหกรรม อุปกรณ์ต่างๆ จะล้ำสมัยเพื่อสอดคล้องกับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมด้วย
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ http://www.studyinnewzealand.govt.nz