ไทยจับมือพันธมิตร หยุดขบวนการค้าไม้พะยูงและไม้ป่าที่ผิดกฎหมาย
30 พฤษภาคม 2559 / ไม้พะยูงเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศในแถบอินโดจีน พบมากในประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม การตัดไม้พะยูงในพื้นที่ป่าเสียหายนั้นทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ชนิดต่างๆ หลายสายพันธุ์ ตลอดจนกระทบกับความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์
ปัจจุบันพบว่าการค้าไม้พะยูงที่ผิดกฎหมายมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นขบวนการข้ามชาติที่มีทั้งเงินทุนและอิทธิพล ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ จนจำนวนไม้พะยูงได้ลดลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น ในการหารือเกี่ยวกับการพิทักษ์ไม้พะยูงและพืชป่า (2nd Regional Dialogue on Preventing Illegal Logging and Trade of Siamese Rosewood) ที่จัดขึ้น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสังคมเวียดนามจึงเห็นชอบร่วมกันในข้อตกลงว่าด้วยการทำความเข้าใจในการพิทักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติร่วมกัน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนจะให้ความร่วมมือและการประสานงานในการต่อต้านการลักลอบตัดไม้และค้าไม้พะยูงและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอินโดจีน
ในช่วงการหารือ ทุกประเทศได้รายงานผลปฏิบัติการต่างๆ ที่ใช้ดำเนินคดีและตรวจจับผู้กระทำความผิด โดยได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่ซับซ้อนและการวางแผนเป็นอย่างดีของอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ หน่วยงานต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะภาครัฐ แต่รวมถึงเอกชน และภาคประชาสังคมจึงต้องร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระบุตัวผู้ต้องสงสัย และร่วมสนับสนุนการดำเนินคดี โดยร่วมกันอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมการหารือยังมีความเห็นตรงกันถึงความสำคัญในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์เอาไว้ เพื่อความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพที่ดีของประชาชนในประเทศ เพื่อไม่ให้ขบวนการลักลอบค้าไม้ที่ผิดกฏหมาย ฉกฉวยผลประโยชน์และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถและเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้นควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของประเทศต่างๆ
รวมทั้งยังมีการหารือในประเด็นอื่นๆ อาทิ ความจำเป็นในการตรากฎหมายอาญาที่มีโทษรุนแรงและการบังคับใช้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น การนำมาตรการใหม่ๆ มาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการสร้างความตระหนักและความรู้แก่ประชาชน โดยเห็นว่ารัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในภารกิจเหล่านี้และดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ไปพร้อมกัน
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (LEEO-WEN) กล่าวว่า “แม้ว่าการตัดไม้และการลักลอบค้าไม้ที่ผิดกฎหมายจะไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ที่สามารถแก้ไขได้ทันที แต่ข้อตกลงในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติต่อไป และขอร่วมสนับสนุนความร่วมมือระดับภูมิภาคตามข้อตกลงครั้งนี้”
ข้อตกลงที่เกิดขึ้นในการประชุมเกิดจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่
ประเทศไทย: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ราชอาณาจักรกัมพูชา: กรมบริหารการอนุรักษ์และพิทักษ์ธรรมชาติ กระทรวงการสิ่งแวดล้อม
สาธารณรัฐประชาชนจีน: กองอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า
สาธารณรัฐสังคมเวียดนาม: กองอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า, อุทยานแห่งชาติ Yok Don และกรมศุลกากร