กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ และ ESCO รวมพลังเสริมความแข็งแกร่ง SMEs ไทย Save ต้นทุน ลดการใช้พลังงาน
กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ และ ESCO รวมพลังเสริมความแข็งแกร่ง SMEs ไทย
Save ต้นทุน ลดการใช้พลังงาน
————————————————————————————–
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย (ESCO) จัดทำโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของศักยภาพการแข่งขับให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่โตขึ้น จากการสำรวจและติดตามสถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในประเทศไทย พบว่า โดยมาก SMEs ยังไม่ได้มีการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานเท่าที่ควร เนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคในด้านเทคนิค บุคลากร และเงินทุน ดังนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ร่วมกับ สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย (ThaiESCO) จัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้รูปแบบบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) เพื่อให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระความเสี่ยงด้านเทคนิคและด้านการเงินของผู้ประกอบการ SMEs อันที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมเสริมสร้างความแข็งแกร่งของศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างยั่งยืน
การดำเนินโครงการดังกล่าว เริ่มจากการจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และ ESCO กว่า 50 สถานประกอบการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการทำโครงการอนุรักษ์พลังงานภายในรูปแบบ ESCO จากนั้นทำการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อเข้าดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 3 ราย พร้อมจัดทำรายงานการประเมินความเหมาะสม รวมถึงจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) เพื่อวางแผนในการขยายผลโครงการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่ม SMEs และจัดให้มีงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจการพัฒนาต่อยอดโครงการฯ และสุดท้าย ESCO จะเข้าไปให้คำปรึกษาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ
ผลการดำเนินโครงการให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs นั้น มีผู้ประกอบการ 4 ราย ที่สามารถดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงาน คือ บริษัท แซนด์แอนด์ชอยล์ อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ยูเนี่ยนลิงค์ จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมอำนวยไชย จำกัด และ บริษัท มหาจักรอุตสาหกรรม จำกัด โดยได้ดำเนินมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงานในรูปแบบของ ESCO ได้แก่ การใช้มอเตอร์ไฟฟ้าชนิดประสิทธิภาพสูง, การลดขนาดและใช้มอเตอร์ไฟฟ้าชนิดประสิทธิภาพสูง, มาตรการจัดการการเดินเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ (Chiller) ให้เหมาะสม และมาตรการปรับปรุงระบบท่อเมนจ่ายลมระบบอากาศอัด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ช่วยให้ผู้ประกอบการลดการใช้พลังงาน และมีผลตอบแทนให้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำ “แผนแม่บท ESCO – SMEs master plan” เพื่อใช้ในการวางแผนขยายผลโครงการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้รูปแบบ ESCO โดยได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง เริ่มตั้งแต่ ปี 2559 เป็นช่วงของการเตรียมการจัดการแผนแม่บทฯ และวางแผนการขับเคลื่อนกิจกรรม หลังจากนั้นช่วงปี 2560 – 2561 เป็นช่วงการเตรียมความพร้อมและพัฒนาโครงการนำร่อง ESCO – SMEs for EERS ซึ่งจะเป็นช่วงการพัฒนารูปแบบกลไก รวมถึงพัฒนารูปแบบการทำสัญญาระหว่าง ESCO กับ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ต่อจากนั้น ปี 2561 – 2562 เข้าสู่ช่วงของการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการลงทุนผ่านรูปแบบกลไกสนับสนุนทางการเงิน “กองทุนร่วม EERS Revolving Fund” รวมถึงการดำเนินการปรับปรุงโครงการนำร่อง และช่วงสุดท้าย ปี 2564 – 2565 เป็นช่วงการติดตาม พิสูจน์ผลประหยัด ทั้งนี้ แผนแม่บทฯ ได้ตั้งเป้าหมายมุ่งให้เกิดการประหยัดพลังงานได้ 10 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) จากโครงการนำร่อง และสามารถขยายผล ESCO – SMEs for EERS เชิงพาณิชย์ให้บริการกับผู้ให้บริการด้านพลังงาน
“การจัดทำโครงการฯ นี้ เพื่อต้องการนำความเป็นมืออาชีพของ ESCO มาจัดการและสร้างองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินการด้านอนุรักษ์พลังงานระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาโครงการอนุรักษ์พลังงาน และมั่นใจในการลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ รวมทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระความเสี่ยงด้านเทคนิคและด้านการเงินของผู้ประกอบการ SMEs สร้างความเชื่อมั่นและความสนใจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเพิ่มศักยภาพการจัดการด้านพลังงาน ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) และ แผนพัฒนาพลังงงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015)” นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม
…………………………………………………………………………………………………………..