1

5 เรื่องสำคัญการบริหารเงินให้ธุรกิจ SMEs ไปรอด

กลยุทธ์ที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการทำธุรกิจ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดในการนำพาธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัย กำไรหรือยอดขายที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ใช่สิ่งชี้วัดว่าธุรกิจจะเติบโต เพราะหากธุรกิจบริหารจัดการเงินไม่เป็น ไม่สามารถบริหารจัดการกระแสเงินสดได้ ระบบการเงินก็เหมือนถังน้ำที่มีรูรั่ว ทำให้ขาดสภาพคล่อง ธุรกิจสะดุด ซ้ำร้ายอาจถึงขั้นล้มละลายปิดกิจการไปในที่สุด

‘เงิน’ คือปัจจัยสำคัญของคนทำธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมือใหม่ ที่ยังบริหารจัดการเรื่องเงินอย่างหละหลวมย่อมมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง
“มีคนเข้าใจผิดเยอะมากว่า มีเงินหนึ่งก้อนก็สามารถทำธุรกิจได้ แท้จริงแล้ว การมีเงินก้อนหนึ่งทำให้เราเริ่มต้นทำธุรกิจได้ก็จริง แต่ถ้าอยากให้ธุรกิจอยู่รอด และมีกำไร ต้องเข้าใจการบริหารเงิน หากบริหารไม่เป็นก็มีโอกาสเจ๊งสูง” โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เจ้าของเพจ THE MONEY COACH และโค้ชการเงินส่วนบุคคล รวมถึงที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวพร้อมระบุอีกว่า การบริหารเงินแบบฉบับเอสเอ็มอี ต้องให้ความสำคัญกับ ‘5 เรื่องสำคัญการบริหารเงินให้ธุรกิจไปรอด’ ดังนี้

1.เงินทุนหมุนเวียน ต้องเตรียมเท่าไหร่
เงินทุนหมุนเวียน หรือเงินทุนสำรอง คือความมั่นคงพื้นฐานของธุรกิจ สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรพิจารณา คือ ต้องเตรียมเงินทุนหมุนเวียนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป ต้องการกระแสเงินสดที่ไหลเวียนอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องประเมินสภาพคล่องธุรกิจว่า ในหนึ่งเดือนใช้เงินเท่าไหร่ ทั้งค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ แรงงาน ค่าขั้นตอนปฏิบัติงานต่างๆ ควรเผื่อเงินสำรองไว้ 3 เดือนเพื่อความคล่องตัวของธุรกิจ กรณีธุรกิจมีการให้เครดิตเทอม หรือเครดิตการค้าที่ใช้เวลาในการวางบิลเก็บเงินนาน ในขณะที่ต้องมีการชำระค่าใช้จ่ายเป็นเงินสด ธุรกิจลักษณะนี้อาจต้องเตรียมเงินทุนสำรองถึง 6 เดือนเพื่อความอุ่นใจ
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทราบอีกอย่างหนึ่งคือ เงินสำรองมีน้อยก็เสี่ยง มีมากเกินไปก็ไม่ดี เพราะอาจเสียโอกาสที่จะนำเงินไปสร้างผลตอบแทนในด้านอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องประเมินอย่างเหมาะสม

2.วางแผนบริหารกระแสเงินสด
ในการจัดการเรื่องเงินให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไปรอดลำดับต่อมาคือ การวางแผนบริหารจัดการกระแสเงินสด ปัญหาสำคัญคือ เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารายได้ที่เข้ามานั้นเป็นเงินที่มีภาระอะไรบ้าง เช่น รายจ่ายที่จำเป็น หนี้สินธุรกิจที่ต้องชำระ หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบริษัท ทำให้ไม่ทราบตัวเลขกระแสเงินสดที่ ‘ปลอดภาระอย่างแท้จริง’ มีผลทำให้การตัดสินใจใช้เงินค่อนข้างยาก และอาจผิดพลาดได้
ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรทำคือ บริหารจัดการกระแสเงินสด จะเข้ามาจากไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ประมาณการรายจ่ายเท่าไหร่ และเมื่อไหร่บ้าง มีเงินสดเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้าไม่พอเตรียมแผนสำรองไว้อย่างไร เพราะหากผิดพลาดหรือล่าช้าเพียงไม่กี่วัน อาจกระทบกับสภาพคล่องของธุรกิจ หรือความเชื่อมั่นของคู่ค้าได้ ดังนั้นประมาณการกระแสเงินสดไหลเข้า–ออก ต้องแม่นยำเพื่อสามารถวางแผนบริหารจัดการเงินได้อย่างเป็นระบบ
ขณะเดียวกันการบริหารเครดิตเทอม หรือเทอมการค้าที่ยืดหยุ่นให้กับลูกค้าบางราย หรือลูกค้าใหม่ ควรปรับไปตามสถานการณ์ โดยพยายามบริหารเงินให้ธุรกิจได้ประโยชน์มากที่สุด อาทิ บางรายให้เครดิต บางรายเก็บเงินสด ก็เป็นอีกเทคนิคการจัดการเงินเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการใหม่ ๆ

3.แยกกระเป๋า เงินเรา เงินบริษัท
เมื่อวางแผนจัดการกระแสเงินสดได้แล้ว ผู้ประกอบการก็จะได้ทราบตัวเลข ‘เงินที่ปลอดภาระ’ แต่ปัญหาส่วนใหญ่คือ ผู้ประกอบการมักใช้เงินปะปนกันระหว่างเงินของตัวเองกับเงินของธุรกิจ เรื่องนี้เจ้าของธุรกิจมักคิดว่ายังไงก็เงินเรา แต่จริง ๆ แล้วไม่ถูกต้อง เพราะหากมองในแง่มุมการทำธุรกิจ การเสียภาษีของบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลนั้นใช้คนละฐานภาษีกัน ดังนั้นการใช้จ่ายเงินส่วนตัว กับรายได้จากธุรกิจควรแยกกระเป๋าให้ชัดเจน หากไม่แยก เจ้าของธุรกิจจะไม่ทราบเลยว่าจริง ๆ แล้วธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุน เพราะช่วงที่ธุรกิจขาดเงินก็ใช้เงินส่วนตัวจ่าย ช่วงที่เก็บเงินได้ก็นำไปใช้ส่วนตัว การใช้เงินปะปนกันไปหมด หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุน ควรนำไปลงทุนในธุรกิจ หรือนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้เงินสดจนขาดสภาพคล่อง

4.วางแผนขอสินเชื่อ และการหาหุ้นส่วน
ในช่วงที่ธุรกิจต้องการใช้เงินจำนวนมาก อาทิ นำไปจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อขยายการผลิต ลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ หรือประมาณการเงินหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดความฉุกละหุก จึงควรวางแผนหาแหล่งเงินสำรอง ไม่ควรรอให้เงินขาดมือแล้วค่อยมองหาช่องทาง
‘สินเชื่อธุรกิจ’ เป็นหนทางในการเข้าถึงแหล่งเงินได้ดีที่สุด เราควรวางแผนขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งมวล และการขอสินเชื่อแต่ละครั้งควรระบุประเภทของสินเชื่อให้ชัดเจนตามวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้
อีกรูปแบบหนึ่งในการเข้าถึงแหล่งเงิน คือการหาหุ้นส่วนมาร่วมลงทุน หรือกิจการร่วมค้า แต่แนะนำว่าให้ผู้ประกอบการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก่อน เพราะการหาหุ้นส่วน มีประเด็นที่ต้องพิจารณามากมาย เปรียบเทียบง่ายๆ ขอสินเชื่อสถาบันการเงิน อาจมีภาระชำระหนี้ 5-10 ปี เป็นภาระสั้นๆ แต่การมีหุ้นส่วนคือการอยู่ร่วมกันระยะยาว จึงต้องพิจารณาและประเมินให้ดี

5.ให้ความสำคัญกับงบการเงิน
ทุกองค์กรควรกำหนดผู้ทำหน้าที่ติดตามรายการรับ-จ่ายเงิน บันทึกข้อมูลทางบัญชีเพื่อจัดทำประมาณการกระแสเงินสด และจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้ได้ตัวเลขที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือ ‘งบการเงิน’ ที่เป็นหัวใจสำคัญ

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า งบการเงินไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์เพื่อนำส่งสรรพากรเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นงบแสดงสถานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด ถ้าผู้ประกอบการทำตัวเลขถูกต้อง จะสามารถนำมาใช้บริหารจัดการ หรือช่วยตัดสินใจในธุรกิจได้ และที่สำคัญ กรณีมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม และประสงค์ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการที่ส่งงบการเงินที่ถูกต้องประกอบการขอสินเชื่อย่อมส่งผลดี เพราะเจ้าหน้าที่สินเชื่อจะสามารถประเมินศักยภาพของธุรกิจ ความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประโยชน์ของงบการเงินที่ผู้ประกอบการมองข้าม
สุดท้าย มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ธุรกิจโตเพราะการตลาด ขายดีเพราะการจัดการ แต่ส่วนใหญ่ที่เจ๊ง บอกได้เลยว่า เป็นเพราะเรื่องการเงิน ดังนั้นธุรกิจที่เฝ้าระวังตลอดเวลา มีข้อมูลบริหารจัดการเงินที่ดี และถูกต้อง ธุรกิจเหล่านี้จะเติบโต สร้างกำไร และความมั่งคั่งให้กับกิจการ

อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=fgJx_tsypj0