กรมอุทยานฯสานต่อพระราชดำริด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งป่าภูเขียว
กรมอุทยานฯสานต่อพระราชดำริด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งป่าภูเขียว
ภายใต้ “โครงการสวนสัตว์ธรรมชาติภูเขียว”
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สานต่อพระราชดำริด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งป่าภูเขียว ภายใต้ “โครงการสวนสัตว์ธรรมชาติภูเขียว” ย้ำผืนป่าภูเขียวเป็น 1 ใน 5 ป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในไทย และเป็นผืนป่าแห่งเดียวของภาคอีสานเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า เผยภารกิจสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติแล้วนับพันตัว
23 ม.ค. 61 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ – นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย ดร.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายอนุชิต แตงอ่อน ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและเผยแพร่ นายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว นายจิรชัย อาคะจักรหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง และนายวุฒินันท์ พวงสาย หัวหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ร่วมลงพื้นที่ดำเนินการสานต่อพระราชดำริด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมแหล่งที่อยู่อาศัยอันถาวรของสัตว์ป่า และสร้างความร่วมมือ ร่วมใจกับประชาชน ในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้เรียกว่า “ป่าโครงการไม้กระยาเลยภูเขียว” ทำให้ประสบปัญหาราษฎรบุกรุกทำลายป่าอย่างรวดเร็ว ทั้งการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่าเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสัตว์ป่าสงวนของไทย “กระซู่” ได้ถูกล่าถึง 3 ตัว ในช่วงปี พ.ศ. 2510-2513 ในบริเวณทุ่งกะมัง จากเหตุการณ์ดังกล่าวรจึงทำให้มี พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เมื่อปีพ.ศ.2515 มีเนื้อที่รับผิดชอบทั้งสิ้น 975,000 ไร่ ถึงแม้จะประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว แต่ก็ประสบปัญหาความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่ กระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ผ่าน ป่าภูเขียว เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ก็ทรงมีพระราชดำริว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมแหล่งที่อยู่อาศัยอันถาวรของสัตว์ป่าทั้งหลาย
นายปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม 2526 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จประทับแรม ณ บริเวณทุ่งกะมัง และทรงสำรวจพื้นที่ป่าดิบ เพื่อทอดพระเนตรแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัย ตลอดจนเส้นทางการเดินของสัตว์ป่า เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการดำเนินงานด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งป่าภูเขียวต่อไป และทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการสวนสัตว์ธรรมชาติภูเขียว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาป่า ภูเขียวในเรื่อง 1) การปลูกและบำรุงพืชอาหารสัตว์ในบริเวณป่าที่ถูกแผ้วถางลงไปแล้ว 2) การจัดการพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการดึงดูดสัตว์ป่าให้เข้ามาอยู่อาศัย เช่น การทำโป่งเทียม 3) การจัดสถานที่เลี้ยงสัตว์ป่าชั่วคราวแล้วปล่อยเข้าป่า 4) การให้อาหารสัตว์ป่าตามความจำเป็น 5) งานวิจัยสัตว์ป่า และ 6) ให้การศึกษาอบรมแก่เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปให้เกิดความรักและอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชการที่ 9 ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 ได้ตั้งคณะทำงานโครงการพระราชดำริสวนสัตว์ธรรมชาติ และได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ป่าภูเขียวได้รับการดูแลรักษาไว้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างแท้จริงมาจนกระทั่งทุกวันนี้
“จากการสำรวจสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าภูเขียว มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 112 ชนิด นก 423 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 85 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 40 ชนิด ปลาน้ำจืด 117 ชนิด และสำรวจพบสัตว์ชนิดใหม่ อยู่เรื่อยๆ เช่น ปลาจาดถ้ำ ที่พบแห่งแรกของโลก และจิ้งเหลนห้วยหางหนาม สัตว์ชนิดใหม่ของโลก เป็นต้น นับเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด 1 ใน 5 แห่งของประเทศ และเป็นผืนป่าแห่งเดียวของภาคอีสานเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า” นายปิ่นสักก์ กล่าว
นายปิ่นสักก์ กล่าวถึงภารกิจในปี 2561 ว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่าที่สร้างผลกระทบต่อราษฎรนอกพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า มีการติดตามเส้นทางหากินของช้างป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนจัดทำสื่อ ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจไม่ให้ราษฎรไม่ร้ายสัตว์ป่า และสิ่งสำคัญคือการปรับปรุงแหล่งน้ำและอาหารภายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า เพื่อสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าให้เหมาะสมกับชนิดและปริมาณสัตว์ป่าในพื้นที่ ขณะที่การป้องกัน ปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ เจ้าหน้าที่ยังคงเข้มงวดกับการลาดตระเวน ตรวจปราบปรามเพื่อสกัดกั้นการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้
สำหรับ “สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งมีพื้นที่ 420 ไร่ มีภารกิจและหน้าที่ คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์ป่ามีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า บริการข้อมูลวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหรือแก้ไขปัญหาสัตว์ป่า สนับสนุนพันธุ์สัตว์ป่าแก่ผู้ขออนุญาตเพาะพันธุ์ เพาะเลี้ยงและปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ดูแลสัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่ารับมอบ และปฏิบัติตามภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย สำหรับที่มาของสัตว์ป่าเหล่านี้ได้มาจากหน่วยงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าด้วยกัน สัตว์ป่าที่รับมอบตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า สัตว์ป่าของกลางที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีและที่คดีสิ้นสุดแล้ว โดยในปี 2560 ได้รับมอบสัตว์ป่าของกลาง จำนวน 12 ครั้ง รวม 438 ตัว และสัตว์ป่าที่ทางสถานีฯ เพาะขยายพันธุ์ได้ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียวมีศักยภาพในการผลิตสัตว์ตระกูลไก่ฟ้าดังนั้นสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์จำพวกไก่ฟ้า สัตว์ป่าที่ทำการเพาะเลี้ยงนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน แบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้ 1.สัตว์ป่าประเภทสัตว์ปีก อาทิ นกยูงไทย นกยูงอินเดีย นกหว้า ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาวธรรมดา ไก่ฟ้าหลังขาวจันทบูร ไก่ฟ้าหลังเทาแข้งแดง ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกแว่นสีเทา เป็นต้น 2.สัตว์ป่าประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ กวางป่า ละองหรือละมั่ง เนื้อทราย เก้ง หมีควาย ชะนีธรรมดา ลิงวอก ลิงกัง 3.สัตว์ป่าประเภทสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ จระเข้น้ำจืด งูเหลือม งูหลาม เต่าปูลู เต่าหก เต่าหับ เป็นต้น
นายปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปีงบประมาณ 2560 จำแนกออกเป็น 1.) สัตว์ป่าพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในกิจกรรมเพาะพันธุ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 12 ชนิด 1,042 ตัว 2.) สัตว์ป่าที่ใช้สนับสนุนพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (จำหน่าย) จำนวน จำนวน 4 ชนิด 309 ตัว 3.)สัตว์ป่ากรณีสัตว์ป่าของกลาง จำนวน 36 ชนิด 271 ตัว 4.)สัตว์ป่ากรณีแก้ไขปัญหาสัตว์ป่า จำนวน 50 ชนิด 484 ตัว 5.)สัตว์ป่ากรณีสัตว์ป่า สป.1 จำนวน 5 ชนิด 13 ตัว 6.)สัตว์ป่ากรณีบัญชี CITES จำนวน 3 ชนิด 91 ตัว ส่วนการตรวจโรคสัตว์ป่ารวมทั้งสิ้น 200 ตัว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีมสัตวแพทย์จากฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า และทีมสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งมีการสำรวจและจัดเตรียมพื้นที่ปล่อยสัตว์ป่าจำนวน 2 แห่ง ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ ภายใต้ “โครงการส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์” อย่างต่อเนื่อง
นายปิ่นสักก์ กล่าวย้ำว่า นอกจากสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ธรรมชาติแล้ว ยังมีสัตว์ป่าของกลางกว่าหมื่นตัวที่กรมอุทยานฯ นำมาดูแลในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นของกลางที่ได้มาจากการจับกุมผู้กระทำผิดในคดีลักลอบสัตว์ป่า รวมทั้งที่คนลักลอบเลี้ยงกันแต่กลัวความผิดหรือไม่อยากเลี้ยงแล้ว ก็นำมาทิ้งไว้และแจ้งกับ กรมอุทยานฯ ว่าเจอสัตว์ป่าผลัดหลง โดยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่าของกลางเหล่านี้ ทางกรมอุทยานฯ จึงมี “โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจมีส่วนร่วมในการดูแลและอุปถัมภ์ได้ เพื่อสร้างจิตสำนึกในคุณค่าชีวิต และมีเมตตาต่อสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าของชาติอีกทางหนึ่งด้วย ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถร่วมสมทบทุนผ่านชื่อบัญชี “โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า” ธนาคารกรุงไทย สาขา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 980 216 5379 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กลุ่มงานเพาะเลี้ยง โทร 0-2579-9630 หรือส่วนอำนวยการ โทร 0-2579-8273 อีเมล wbd1680@hotmail.com หรือสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั้ง 23 สถานีทั่วประเทศ
////////////////////////