กอปภ.ก. วางมาตรการเตรียมพร้อมรับมือวาตภัย และพายุฤดูร้อนอย่างเข้มข้น
กระทรวงมหาดไทย โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องวางมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากวาตภัยและพายุฤดูร้อน กรณีเกิดสถานการณ์วาตภัยและพายุฤดูร้อนในพื้นที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยและเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว หากเกินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้อำเภอรายงานไปยังจังหวัด เพื่อดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ในการเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนต่อไป รวมถึงบูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่จัดทีมช่างประชารัฐตำบลให้พร้อมดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย กรณีเกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้างและวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เพียงพอ จังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปยังกระทรวงการคลัง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดสถานการณ์วาตภัย และพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก กระทรวงมหาดไทย โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.อ.) จึงได้ติดตามข้อมูลลักษณะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร รวมถึงหน่วยงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางมาตรการป้องกันและบรรเทา ผลกระทบจากวาตภัยและพายุฤดูร้อน ดังนี้ 1. กรณีเกิดสถานการณ์วาตภัยและพายุฤดูร้อนในพื้นที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยและเร่งสำรวจความเสียหายให้อำเภอ เพื่อรวบรวมรายงานไปยังจังหวัดสำหรับประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณของหน่วยงานดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว 2.หากเกินศักยภาพในการช่วยเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้อำเภอรายงานไปยังจังหวัด เพื่อดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยประกาศเขตการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนต่อไป 3.บูรณาการ ทุกหน่วยงานในพื้นที่จัดทีมช่างประชารัฐตำบล ทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ อาชีวศึกษา และ กศน. ให้พร้อมดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย 4.กรณีเกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้างและวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เพียงพอ จังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการ ผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไปยังกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ปภ. ได้เตรียมพร้อมรับมือวาตภัยและพายุฤดูร้อนอย่างเต็มกำลัง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะ ป้ายโฆษณา และเสาไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการล้มทับบริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงในช่วงที่เกิดฝนฟ้าคะนองและพายุลมแรง ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่กำบัง ปกคลุมพืชผลการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหาย ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป