1

“กรมป่าไม้ แจงกรณีการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ”

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ในประเด็น “ครม.อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A” ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 จังหวัดสระบุรี
นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ ขอเรียนชี้แจงว่า บริษัท
ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 เข้าใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ท้องที่จังหวัดสระบุรี จำนวน 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตประทานบัตร มีกำหนดระยะเวลา 25 ปี จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2579 ตามพรบ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งได้มีการจัดทำรายงาน EIA และพิจารณาปริมาณสำรองแร่เพียงพอต่อการทำเหมือง และกรมป่าไม้ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป.ส.23) เล่มที่ 101 เลขที่ 30-43 ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2544 จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2554
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า เมื่อหนังสืออนุญาตป่าไม้สิ้นอายุลง บริษัทฯ จึงได้ยื่นขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เดิม (ต่ออายุหนังสืออนุญาตฯ) โดยได้ผ่านความเห็นชอบรายงาน EIA และคณะทำงานผู้ชำนาญการรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายหลังการทำเหมืองแร่และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบแล้ว และมีมติให้บริษัทเฝ้าระวังด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนและคนงาน รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่อย่างเคร่งครัด แต่เนื่องจากประทานบัตรยังมีอายุอยู่ กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการตามกฎหมายขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ตามมติ ครม. 8 มีนาคม 2548 ทั้งนี้การอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่ง พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 กรณีอนุญาตเพื่อการทำเหมืองแร่มีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกิน 10 ปี
ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และบริเวณใกล้เคียง แต่อย่างใด โดยมี บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีพีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท น่ำเฮงการศิลา จำกัด บริษัท ปูนเอเซีย จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ได้รับอนุญาตประทานบัตร และใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าในลุ่มน้ำชั้น 1A ไปแล้ว
กรมป่าไม้จึงขอเรียนชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐไม่ได้ยกพื้นที่ป่าให้ปูนใหญ่ทำเหมืองหิน แค่เป็นการต่ออายุตามประทานบัตรเดิมเท่านั้น