วสท.ลงนาม MOU กับกรมทางหลวงชนบท ยกระดับวิศวกรรมทางและพัฒนาผู้ตรวจสอบ RSAS
ทางหลวงชนบทซึ่งปัจจุบันมีความยาวทั้งประเทศรวม 45,000 กิโลเมตร เปรียบเสมือนเส้นโลหิตฝอยที่หล่อเลี้ยงท้องถิ่นเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศและเชื่อมต่อชุมชนทุกภูมิภาคเข้าด้วยกัน วิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อผนึกพลังความร่วมมือด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของคมนาคมและโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยแก่ประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ยั่งยืนตามมาตรฐานวิศวกรรมระดับสากล พร้อมมุ่งสร้าง ผู้ตรวจสอบ 3 ระดับและพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมการทางทั่วประเทศใน 5 ภาค เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. พร้อมด้วยสักขีพยาน ณ ห้องประชุมธารสิทธิ์พงษ์ กรมทางหลวงชนบท กรุงเทพฯ
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า “ ภารกิจเร่งด่วนที่กรมทางหลวงชนบท จะร่วมกับ วิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ทั้ง วสท.ส่วนกลาง และ วสท.ในส่วนภูมิภาค ทั้ง 4 ภาค คือ การยกระดับและพัฒนาวิศวกรรมการทางสู่สากล พัฒนาสร้างผู้ตรวจสอบความปลอดภัยงานทางระดับต้น (Inspector) ของกรมทางหลวงชนบท เพื่อให้เป็นหนึ่งในบุคลากรหลักสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของกรมทางหลวงชนบทตามหลักวิศวกรรมสากล ซึ่งประกอบด้วย ผู้ตรวจสอบความปลอดภัยงานทางระดับต้น (Inspector) ผู้ตรวจสอบความปลอดภัยงานทางระดับกลาง (Auditor) และผู้ตรวจสอบความปลอดภัยงานทางระดับอาวุโส (Senior Auditor) รวมไปถึงพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการรับจ้างก่อสร้าง กลุ่มที่ปรึกษาด้านสำรวจออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งทำงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท ให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบความปลอดภัยงานทางของกรมได้ ทั้งยังส่งเสริมเรื่องระบบที่กรมทางหลวงชนบทได้พัฒนา Road Safety Audit System (RSAS) สำหรับใช้ในการประเมินความปลอดภัยของทางหลวงชนบทตามวิธีการสากล เพื่อให้การดำเนินงานด้านความปลอดภัย แก่ประชาชนและสังคมเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ”
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “ ทางหลวงชนบทซึ่งปัจจุบันมีความยาวทั้งประเทศรวมประมาณ 45,000 กิโลเมตร เปรียบเสมือนเส้นโลหิตฝอยที่หล่อเลี้ยงท้องถิ่นทั่วประเทศและเชื่อมต่อชุมชนทุกภูมิภาคเข้าด้วยกัน จากความร่วมมือของกรมทางหลวงชนบท และ วสท.ครั้งนี้ จะเสริมสร้างทางหลวงชนบทให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้นทั้งในระยะก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้างและหลังก่อสร้างเสร็จ มีความสะดวกในการขับขี่และขนส่ง ซึ่งจะต้องได้รับการตรวจสอบจากวิศกรการทางที่มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพมาตรฐานตามหลักวิศวกรรมสากล จะเป็นผลดีช่วยลดอุบัติเหตุและการสูญเสีย เสริมสร้างพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนของประเทศให้เข้มแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) การท่องเที่ยวในชุมชนและธุรกิจไมโคร SME เพิ่มโอกาสการจ้างงานในชุมชนและคมนาคมเมืองใหญ่-เมืองรอง ที่เชื่อมโยงให้ผู้ผลิต ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวได้เข้าถึงกันอย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น ”
MOU ข้อตกลงระหว่างสององค์กร กรมทางหลวงชนบท และ วสท.ครั้งนี้ครอบคลุมความร่วมมือดังนี้ 1.แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการให้ความร่วมมือด้านความรับผิดชอบทางสังคม 2.สนับสนุนวิชาการและวิชาชีพด้านวิศวกรรมที่เกียวกับงานพัฒนาบุคลากรทั้งส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค ด้านงานก่อสร้าง งานสิ่งแวดล้อม งานความปลอดภัย และงานด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างมาตรฐานวิชาชีพในการทำงานของบุคลากรด้านวิศวกรรม 3.แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรมระหว่างทั้งสององค์กรเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูดสุดในการปฏิบัติงาน 4.สนับสนุนและพัฒนาให้บุคลากรด้านวิศวกรรมที่มีความรู้ความสามารถและก้าวทันโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง