1

“ภายใต้วิกฤติย่อมมีโอกาส” ปล่อยทรัพยากรธรรมชาติให้ฟื้นสมดุล

จากวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง นับล้านคน นับเป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ของมนุษชาติที่มีผู้คนล้มตายแล้วนับแสนคน รวมถึงประเทศไทย โดยวิกฤตการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบให้กับภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยอย่างหนัก แต่ในทางกลับกัน กลับสร้างโอกาสในการฟื้นตัวและปรับสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรหลักที่มีหน้าที่อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมได้เผยแนวทางการฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติประเทศไทยก็ได้มีมาตรการปิดพื้นที่เพื่อปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวอยู่แล้ว ย้ำวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับเป็นโอกาสของธรรมชาติในการปรับสมดุล

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 เป็นเวลาผ่านไป 2 เดือนกว่า คงต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ธุรกิจหลาย ๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนมกราคม ลดลงประมาณ 2.55% และในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงกว่า 34.22% และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤติโรคโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวไม่ออกมาท่องเที่ยว กลับส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด ซึ่งโดยปกติทรัพยากรธรรมชาติจะสร้างสมดุลได้เองตามธรรมชาติภายหลังจากถูกรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศปิดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในสังกัดของกระทรวง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกว่า 148 แห่งทั่วประเทศ รวมถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 48 แห่งได้ปิดให้บริการอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติทางบก ทางทะเล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าก็ตาม เพื่อลดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่คนจะมารวมตัวกันมากและอาจจะเป็นโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อโรคด้วย “ตนขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนทุกคนในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทุกฝ่ายต่างพยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ ขณะที่เราพยายามต่อสู้กับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธรรมชาติเองก็สร้างกระบวนการฟื้นตัวและปรับสมดุลตามธรรมชาติ ภายใต้วิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ แม้เราจะผ่านพ้นช่วงวิกฤติการแพร่ของโรคระบาดแล้ว การลดเลิกกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรักษาสภาพ และช่วยลดระยะเวลาการฟื้นสมดุล และคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตลอดไป” รมว. ทส. กล่าว

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า การท่องเที่ยวในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ในช่วง 2 เดือนหลังจากพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ลดลงประมาณ 1.20% และราว 43.90% ตามลำดับ ซึ่งตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวไว้ กรณีการฟื้นตัวโดยธรรมชาติในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นับเป็นโอกาสประการหนึ่งที่ธรรมชาติได้รับ โดยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลก็มีโอกาสฟื้นตัวได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การฟื้นตัวของปะการังและหญ้าทะเล ซึ่งมีสาเหตุจากการปล่อยน้ำเสียของแหล่งชุมชนและโรงแรมที่พักตลอดแนวชายฝั่งลดลงส่งผลให้คุณภาพน้ำทะเลดีขึ้น ทำให้การฟื้นตัวและการเติบโตของปะการังและหญ้าทะเลดีขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวก็ลดลงจนแทบไม่พบในพื้นที่ใด ซึ่งปะการังฟอกขาวจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและค่าความเค็มของน้ำทะเล ความเข้มข้นของแสง และที่สำคัญ ได้แก่ คุณภาพน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเกิดปะการังฟอกขาว นอกจากนี้ การลดการรบกวนจากนักท่องเที่ยวและกิจกรรมของมนุษย์บริเวณแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเล ทำให้การฟื้นตัวของทรัพยากรทางทะเลภาพรวมอย่างเห็นผลได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปะการังบางชนิดอาจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวและงอกใหม่ค่อนข้างนาน แต่หากในช่วงพักการท่องเที่ยว ก็ส่งผลเชิงบวกให้มีการก่อตัวและงอกใหม่ของปะการัง นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลกว่า 23 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็จะมีโอกาสฟื้นตัวนอกช่วงฤดูกาลปิดพื้นที่เช่นกัน นายโสภณ ทองดี กล่าวในที่สุด