กทพ. จับมือ BEM ชวนคนไทยบันทึกประวัติศาสตร์ “วิ่ง – ปั่น” บนทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกฯ
กทพ. จับมือ BEM ฉลองยิ่งใหญ่ก่อนเปิดศรีรัช – วงแหวนรอบนอกฯ ชวนคนไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ครั้งแรกและครั้งเดียวกับกิจกรรม “วิ่งสามัคคี ศรีรัช – วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษเชื่อมสุข กรุงเทพ- กรุงธน และ กิจกรรมปั่นจักรยานบนทางพิเศษ พร้อมเปิดทดลองวิ่งรถฟรี 15 -17 ส.ค.นี้ ก่อนเปิดใช้จริงภายในสิงหานี้
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานการก่อสร้างและบริหารในรูปแบบ BTO (Build-Transfer-Operate) มีความคืบหน้า 99.5 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในปลายปี 2559 เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะช่วยขยายศักยภาพด้านคมนาคมขนส่งของประเทศและช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดที่ประชาชนฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เส้นทางพิเศษให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รู้จักเส้นทางก่อนการเปิดใช้จริง กทพ.ร่วมกับ BEM ขอเชิญชวนประชาชนร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ ด้วย 2 กิจกรรมพิเศษ คือ กิจกรรม“ วิ่งสามัคคี ศรีรัช- วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษเชื่อมสุข กรุงเทพ – กรุงธน” ในวันเสาร์ที่ 20 ส.ค. 59 และกิจกรรม “ปั่นกินลม ชมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ” ในวันเสาร์ที่ 13 ส.ค.นี้
กิจกรรม “วิ่งสามัคคี ศรีรัช- วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษเชื่อมสุข กรุงเทพ – กรุงธน” จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2559 เริ่มวิ่ง 05.30 – 09.00 น. ณ ด่านสะพานพระราม 7 เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ซึ่งรับสมัครผู้ร่วมแข่งขันจำนวน 2,000 คน โดยจะนำรายได้ในการจัดกิจกรรมสมทบทุนการกุศล มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก เพื่อสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทั้งนี้แบ่งการแข่งขันเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ประเภท Fun Run ระยะทาง 3.5 กม. ไม่แบ่งกลุ่มผู้เข้าแข่งขันและอายุ (รับสมัครจำนวน 400 คน) ค่าสมัคร 200 บาท
2. ประเภท Mini Marathon ระยะทาง 12 กม. กลุ่มชาย อายุระหว่าง 14-19 ปี/20-39 ปี และ 40 ปีขึ้นไป กลุ่มหญิง อายุระหว่าง 14-19 ปี/20-34 ปี และ 35 ปีขึ้นไป (รับสมัครจำนวน 1,000 คน) ค่าสมัคร 300 บาท
3. ประเภท Half Marathon ระยะทาง 21 กม. กลุ่มชาย อายุระหว่าง 16-19 ปี/20-39 ปี และ 40 ปีขึ้นไป กลุ่มหญิง อายุระหว่าง 16-19 ปี/20-34 ปี และ 35 ปีขึ้นไป (รับสมัครจำนวน 600 คน) ค่าสมัคร 400 บาท
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสมัครร่วมกิจกรรมได้ 2 ช่องทาง คือ สมัครทางไปรษณีย์ หรือเว็บไซต์ www.bemplc.co.th
สำหรับกิจกรรม “ปั่นกินลม ชมทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ” จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปนำจักรยานขึ้นไปปั่นชมความงดงามของทัศนียภาพบนทางพิเศษ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณด่านสะพานพระราม 7 (ถนนประชาราษฎร์สาย 1) ในวันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม 2559 ช่วงเวลา เวลา 06.00 -10.00 น. รวมระยะทางไปกลับประมาณ 10 กิโลเมตร โดยผู้สนใจสามารถนำจักรยานคู่ใจมาลงทะเบียนหน้างาน เพื่อรับสติกเกอร์ผ่านทางหรือเพื่อความสะดวกรวดเร็ว สามารถดาวน์โหลดและพิมพ์ใบสมัครได้ที่ www.bemplc.co.th และนำมายื่นบริเวณหน้าสถานที่จัดงานกิจกรรมปั่นจักรยานนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 2 กิจกรรมดังกล่าว กทพ.และ บีอีเอ็ม จะเปิดให้ประชาชนขับรถยนต์ทดลองใช้เส้นทางทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ตลอดทั้งเส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 16.7 กม. โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง ระหว่างวันที่ 15 – 17 สิงหาคม 2559 ก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในเดือน สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป
ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นโครงการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีระยะทางรวม 16.7 กม. เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม และข้ามแม่เจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2
ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นแบบเหมาจ่าย โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถแต่ละประเภท ประกอบด้วย รถยนต์ 4 ล้อ อัตรา 50 บาท / รถยนต์ 6-10 ล้อ อัตรา 80 บาท และ รถยนต์มากกว่า 10 ล้อ อัตรา 115 บาท
“การเปิดให้บริการทางพิเศษสายศรีรัช-ศรีรัชวงแหวนรอบนอกฯ ได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นความสำเร็จของทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาจราจร โดยบริษัทได้ว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ นี้ จึงทำให้การก่อสร้างโครงการฯ มีความก้าวหน้าเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งนี้ เทคโนโลยีการก่อสร้างที่นำมาใช้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดทั้งต่อปัญหาการจราจรพื้นล่างและปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในสายงานปฏิบัติการ รวมถึงเจ้าหน้าที่สื่อสารประจำศูนย์ควบคุมทางพิเศษในการดูแลผู้ใช้บริการทางพิเศษตลอดเส้นทาง เพื่อส่งมอบบริการที่ประทับใจและมีความปลอดภัยในการเดินทาง” นางพเยาว์กล่าว
……………………………………………………….