STC สืบสานพุทธศาสนา ส่งเสริมธรรมยาตรา-เตรียมเปิดวิชาสมาธิเพื่อพัฒนาชีวิต

0
773
image_pdfimage_printPrint

วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เห็นความสำคัญของพุทธศาสนาให้การสนับสนุน โครงการแห่งประวัติศาสตร์ “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์” จัดโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ร่วมกับมูลนิธิวีระภุชงค์ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2560 STC ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมในโครงการนี้พร้อมกับถวายปัจจัยทำบุญให้กับพระสังฆราชและพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของโครงการนี้ เพื่อร่วมสนับสนุนกิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง และหลอมรวมจิตใจในศรัทธาของประชาชน 5 ประเทศที่มีต่อพระพุทธศาสนา

โครงการธรรมยาตรา ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (เมียนมาร์) มีคณะผู้บริหารของ STC ร่วมเดินทางไปเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ดร.ชัยยงค์ สัจจิพานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านต่างประเทศ อาจารย์สิริวรรณ์ รัตนราษี ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาคุณภาพ และอาจารย์รมิดา ศรีงาม หัวหน้าสำนักงานอธิการบดี

อาจารย์สิริวรรณ์ รัตนราษี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ กล่าวว่า การเดินทางไปเมียนมาร์ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของชีวิตและนับเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ได้มีโอกาสไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวน อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของเมียนมาร์ สถานที่แห่งนี้มีความเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุประจำปีจอ ตนเองเกิดปีจอจึงยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ไปสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต และมีโอกาสไปสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง เป็น มหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมาร์ เป็นสถานที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า มีทองคำหุ้มรอบล้อมภายนอกมหาเจดีย์ ซึ่งตั้งตระหง่านส่องแสงทองเหลืองอร่ามสวยงามตระการตา เป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของชาวพุทธที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 2,000 ปี และสิ่งสำคัญที่ได้ประสบในครั้งนี้ อาจนับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่และเป็นครั้งแรกของวงการพระพุทธศาสนา ที่มีขบวนแห่ธรรมยาตราอันวิจิตรงดงาม นักเรียนและประชาชนชาวเมียนมาร์โบกสะบัดธงธรรมยาตรา พร้อมสวดมนต์เป็นการต้อนรับ

“ขบวนธรรมยาตรากำหนดเดินทางถึงพระธาตุอินทร์แขวนเวลา 15.00 น. แต่มาถึงจริงเวลา 18.00 น. ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยไปมาก แต่ชาวเมียนมาร์ยังคงตั้งแถวรอรับขบวนแห่อย่างเป็นระเบียบและสวยงาม พร้อมกับสวดมนต์เป็นการต้อนรับ หลังจากที่ขบวนแห่ธรรมยาตรามาถึงแล้วทุกคนได้สวดมนต์พร้อมกัน ที่บริเวณหน้าพระธาตุอินทร์แขวน การที่ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนานี้ ดิฉันได้ภาวนาส่งผลบุญกุศลไปยังผู้บริหาร คณาอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาในวิทยาลัยทุกท่าน”

หลังจากที่ผู้บริหารได้กลับมาจากเมียนมาร์และประเทศต่างๆ ตามโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินแล้ว STC ได้มุ่งมั่นดำเนินการตามแนวนโยบายของท่านอธิการบดี อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ที่ให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงศาสนา โดยใช้แนวคิดการสร้างสมาธิอันก่อให้เกิดความรับผิดชอบ ความมีเหตุผล และมีความเมตตา ตามหลักการของพระพุทธศาสนา และศาสตร์แห่งสมาธิเพิ่มพูนพลังแห่งจิตของพระธรรมมงคลญาณ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล มาเป็นรายวิชาเรียนสำหรับนักศึกษาของ STC ได้เลือกเรียนตามความสนใจ และคำแนะนำของอาจารย์ประจำในสำนักศึกษาทั่วไป

“นับเป็นความบังเอิญเป็นอย่างยิ่งที่หลังจากกลับจากเมียนมาร์แล้ว ท่านศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมวงศาเวช กรรมการสภาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้คำแนะนำแก่คณะผู้บริหารของ STC ว่า ควรจัดรายวิชาสอนเกี่ยวกับการฝึกสมาธิให้แก่นักศึกษา พร้อมกับแนะนำให้รู้จักกับ ดร.ศิริธัช โรจนพฤกษ์ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงอย่างดีในแวดวงธุรกิจ ได้เสนอแนะและสนับสนุนให้ STC เปิดสอนวิชาสมาธิเพื่อพัฒนาชีวิต เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกสมาธิเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น เพราะการทำสมาธิช่วยเพิ่มพลังจิต ช่วยให้ความจำดีขึ้น และสุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับสอดคล้องกับแนวนโยบายของ STC เราจึงน้อมรับคำแนะนำและกำหนดเปิดสอนรายวิชาดังกล่าวตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป และพร้อมกันนั้นจะสนับสนุนให้บุคลากรได้ศึกษาเรื่องสมาธิและฝึกปฏิบัติด้วย”

อาจารย์รมิดา ศรีงาม หัวหน้าสำนักงานอธิการบดี กล่าวว่า เป้าหมายของการร่วมโครงการธรรมยาตราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสัมพันธ์ทางการศึกษาในประเทศกลุ่ม CLMV และยังเป็นการสร้างบุญสร้างกุศล ซึ่งคนไทยเชื่อกันว่าการได้ทำบุญโดยเฉพาะบุญใหญ่จะส่งผลดีต่อชีวิตหรือการทำงาน

“การเดินทางไปครั้งนี้ยังทำให้ได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ อย่าง ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ท่านทูตสุรพล มณีพงษ์ เอกอัครราชทูตและอุปนายกและเลขาธิการสมาคมมิตรภาพไทย คณะสงฆ์ระดับสูงจากประเทศพม่า กลุ่มนักธุรกิจจากพม่าและอีก 4 ประเทศที่ร่วมเดินทาง ยังมีโอกาสได้พบกับ ดร.คินฉ่วย President of Federation of all Myanmar ทำให้มีโอกาสได้แนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ STC” อาจารย์รมิดา กล่าวทิ้งท้าย