สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society ที่ใช้รูปแบบการชำระเงินที่เรียกว่า e-Payment ทั้งการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต/เครดิต โมบายแอปพลิเคชันของธนาคาร และ e-Wallet หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสด ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ได้นั้น สำหรับในประเทศไทย ปัจจัยด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้ e-Payment ได้รับความนิยม และเติบโตอย่างมาก ทั้งการโอนเงินระหว่างบัญชีตนเอง / โอนเงินไปยังบุคคลอื่น รวมถึงการโอนเงินผ่าน QR Code ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน
คุณปานระพี รพิพันธุ์ พิธีกร อาจารย์ และผู้ประกอบการ ได้ให้ความรู้เรื่อง “ผู้ประกอบการ SMEs กับการรับมือในยุคสังคมไร้เงินสด” ในรายการ SME Clinic Influencer ว่า ด้วยรูปแบบการชำระเงินที่มีความทันสมัย ทำให้พฤติกรรมการใช้จ่าย และชำระเงินของผู้บริโภคในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลง การทำธุรกรรมทั้งหลายสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือสังคมไร้เงินสด ทำให้เราสามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว แค่มีโทรศัพท์มือถือก็ทำได้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม สิ่งเหล่านี้ SME ควรทำความเข้าใจ และปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับพฤติกรรมการชำระเงิน และการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคใหม่
SME /ร้านค้าปลีก ธุรกิจที่จะได้ประโยชน์
เมื่อ e-Payment เข้ามาแทนที่การใช้เงินสดอย่างสมบูรณ์ SMEs / ร้านค้าปลีกจะได้รับประโยชน์ คือ :
สร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้า : การใช้จ่ายเงินที่สะดวก และง่ายดายจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าง่ายขึ้น เจ้าของธุรกิจสามารถทำโปรโมชันร่วมกับผู้ให้บริการ e-Payment เช่น ถ้าลูกค้าจ่ายเงินด้วยแอปพลิเคชันของธนาคารนี้ จะได้รับโปรโมชันต่างๆ ได้ส่วนลด ได้คะแนนสะสมเพิ่ม หรือได้ Cashback ทำให้ลูกค้าอยากซื้อของเพิ่มมากขึ้น
หมดปัญหายักยอก และทอนเงิน : ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่มักพบปัญหาการทอนเงิน และการยักยอกเงินจากลูกจ้างอยู่บ่อยครั้ง หรือแม้แต่การถูกโจรกรรม ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อธุรกิจหันมารับชำระเงินด้วย e-Payment ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือการสแกน QR Code ที่หักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้าโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากได้มาก
บันทึกรายรับ-รายจ่ายออนไลน์ : e-Payment มีการบันทึกข้อมูลการทำรายการต่าง ๆ ทั้งการจ่ายเงิน และรับเงินเข้าบัญชี รายการเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ในระบบโดยอัตโนมัติ เป็นการบันทึกข้อมูลรายรับ รายจ่ายออนไลน์อย่างเป็นระบบ เราสามารถใช้ข้อมูลนี้เป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อจากธนาคารได้ด้วย อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการทราบข้อมูลการซื้อขายสินค้าว่าชนิดไหนขายดี สามารถนำไปต่อยอดการส่งเสริมการขายได้
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทราบคือ ประเทศจีนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว คนส่วนใหญ่จะไม่พกเงินสด แต่จะชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน Alipay และ Wechat Pay ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันชำระเงินออนไลน์ของคนจีน ด้วยเหตุนี้ หาก SMEs หรือร้านค้าสามารถรับชำระเงินจากนักท่องเที่ยวจีนด้วยรูปแบบที่คุ้นเคย เช่น มี QR Code ไว้สำหรับรับชำระเงินผ่าน Alipay และ Wechat Pay จะเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะขายสินค้า หรือบริการแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนได้มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อธนาคารผู้ให้บริการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน AliPay และ WeChatPay ได้โดยตรง
เช็คลิสต์ พร้อมแค่ไหนกับสังคมไร้เงินสด
แม้สังคมไร้เงินสดจะสะดวก และเพิ่มโอกาสการค้าให้กับธุรกิจ แต่ SMEs จะทราบได้อย่างไรว่ามีความพร้อมแค่ไหน ซึ่งวิธีการเช็คสอบนั้นไม่ยุ่งยาก อย่างแรกคือ มีบัญชีกับธนาคารหรือยัง ถ้ายังไม่มี ต้องไปเปิดบัญชีกับธนาคาร
อย่างที่สอง ตรวจสอบว่า มีช่องทางในการรับชำระเงินครบถ้วนหรือไม่ เช่น มีเครื่อง EDC (เครื่องรูดบัตร) ที่ใช้สำหรับรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือยัง ถ้ายัง สามารถติดต่อขอจากธนาคารได้ หรือมี QR Code ที่ให้ลูกค้าสแกนเพื่อจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารหรือไม่ ถ้ายังไม่มี สามารถดาวน์โหลด
แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเพื่อสร้าง QR Code ใช้เป็นช่องทางรับชำระเงินได้
สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องให้ความรู้ ความเข้าใจกับพนักงาน ในเรื่องการรับชำระเงินด้วย
e-Payment สร้างความพร้อมที่จะให้คำแนะนำแก่ลูกค้า รวมทั้งการจัดโปรโมชัน หรือแคมเปญร่วมกับสถาบันการเงินที่ให้บริการ e-Payment เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น และสุดท้าย มีความสะดวกสบายอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความปลอดภัยด้วย
เข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดอย่างปลอดภัย
ความสะดวกสบายในการชำระเงินต้องมาคู่กับความปลอดภัย ซึ่งทั้ง SMEs และลูกค้าควรให้ความสำคัญกับการป้องกันให้การชำระเงินมีความปลอดภัยด้วย ซึ่งมีแนวทางดังนี้
หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สาธารณะ : การ Login Username และ Password บัญชีธนาคารไว้ในคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สาธารณะเป็นเรื่องไม่ปลอดภัย หากมีคนอื่นมาใช้อุปกรณ์ดังกล่าวต่อจากเรา โดยที่เรายังไม่ Logout เขาสามารถเข้าถึงบัญชีการเงินของเราได้ หรือคอมพิวเตอร์สาธารณะบางเครื่องอาจได้รับการติดตั้งโปรแกรมพิเศษที่สามารถดักจับ Username และ Password ไว้ได้ เราจะไม่มีโอกาสรู้เลยว่ามีโปรแกรมแปลกปลอมอยู่ในเครื่องนั้นหรือไม่ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง
ไม่ควรใช้ Wi-Fi ทำธุรกรรมทางการเงิน : โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Wi-Fi สาธารณะ เพราะเคยเกิดเหตุหลายกรณีขึ้น เช่น คนร้ายตั้งชื่อสัญญาณ Wi Fi ให้คล้ายกับชื่อของร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือผู้ให้บริการ Wi-Fi ที่เราคุ้นเคย เพื่อหลอกให้เราเชื่อมต่อสัญญาณ Wi Fi นั้นแบบไม่คิดค่าบริการ และไม่ต้องใส่ Password แต่อาจต้องแลกกับข้อมูลบัญชีการเงินของเราโดยไม่รู้ตัว เพราะมิจฉาชีพสามารถล้วงข้อมูล Username และ Password ของเรา หรือปล่อยไวรัสมาลงเครื่องของเราให้คอยดักจับข้อมูลต่างๆ เอาไว้ คนร้ายอาจนำข้อมูลเหล่านั้นมาโจรกรรมบัญชีการเงินของเราในภายหลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
ติดตั้งโปรแกรม Antivirus (ถูกลิขสิทธิ์) : การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ควรติดตั้งโปรแกรม Antivirus ที่ถูกลิขสิทธิ์ ซึ่งจะสามารถป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูลจากผู้ไม่หวังดีได้ ช่วยให้เรารู้ตัวเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น นอกจากนี้ ควรสมัครระบบแจ้งเตือนต่างๆ ผ่าน SMS ด้วย เพราะเมื่อเกิดความเคลื่อนไหวทางบัญชีที่ผิดปกติ เราจะได้ไหวตัวทัน และระงับการดำเนินการได้ทันท่วงที
ตรวจสอบ QR Code เป็นประจำ : ร้านค้าควรหมั่นตรวจสอบ QR Code ที่แสดงอยู่ที่หน้าร้านว่าเป็นบัญชีของเราจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการสวมรอย สำหรับลูกค้าเมื่อสแกน QR Code อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่า QR Code ที่สแกนนั้น ชื่อบัญชีตรงกับร้านที่ซื้อหรือไม่ ยอดเงินถูกต้องหรือไม่ ก่อนจะกดยืนยัน ซึ่งการทำธุรกรรมต่างๆ หากเกิดความผิดพลาดต้องรีบแจ้งผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป
เพียงเท่านี้ SMEs หรือร้านค้าก็สามารถเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ควรหมั่นติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยี และความเคลื่อนไหวใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถรับมือพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคสังคมไร้เงินสด ทั้งยังเพิ่มโอกาสสำหรับธุรกิจได้อีกด้วย
อ้างอิง : https://youtu.be/MrCP6Y8h9Uw
SMEs กับการรับมือในยุคสังคมไร้เงินสด