เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา Risen Energy บริษัทผลิตโมดูลเซลล์แสงอาทิตย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจีน ได้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเมืองนูวากอต ประเทศเนปาล ภายใต้สัญญาการออกแบบวิศวกรรม การจัดซื้ออุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง และการก่อสร้างแบบครบวงจร (EPC) โดยถือเป็นความพยายามในการขานรับนโยบาย One Belt, One Road ของรัฐบาลจีน ด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ แบรนด์ และเทคโนโลยีไปยังต่างประเทศ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเซลล์แสงอาทิตย์จากประเทศจีนสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในเนปาลได้ โดยเมื่อแล้วเสร็จคาดว่าจะขึ้นแท่นเป็นสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาดใหญ่แห่งแรกในเนปาล
ในระหว่างพิธีเปิด คุณ Barshaman Pun รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเนปาล พร้อมด้วยคุณ Nutan Bhattrai ผู้บริหารการไฟฟ้าเนปาล และคุณ Wang Hong ประธานบริษัท Risen Energy ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการเริ่มต้นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างจีนกับเนปาลในด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากสัญญา EPC รวมถึงการปรับแก้ในภายหลังและการทดสอบเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว Risen Energy ยังเตรียมจัดหาโมดูลเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 275 วัตต์ ที่มีประสิทธิภาพสูง เชื่อถือได้ และคุ้มค่าให้กับโครงการนี้ด้วย โดยคาดว่าสถานีพลังงานแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะเชื่อมโยงกับโครงข่ายไฟฟ้าของรัฐ เพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าสะอาดให้กับชุมชนในหุบเขากาฐมาณฑุในช่วงเวลากลางวัน
Risen Energy ได้เร่งดำเนินการตามแผนการขยายธุรกิจนอกประเทศ หลังจากใช้เวลาวางแผนยาวนานหลายปี ด้วยการเดินหน้าเสนอราคาและเข้าร่วมในโครงการต่างๆทั่วโลก นอกเหนือจากการขยายธุรกิจในยุโรป ทวีปอเมริกา และออสเตรเลียแล้ว บริษัทยังรุกสู่ประเทศต่างๆตามแนวเส้นทางสายไหม เช่น บังกลาเทศ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดระหว่างประเทศต่างๆด้วย จนถึงปัจจุบัน บริษัทได้ดำเนินโครงการร่วม 1,000 โครงการทั่วโลก ทั้งที่ส่งมอบแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยคาดว่าเซลล์แสงอาทิตย์ที่บริษัทติดตั้งนอกประเทศจีนจะมีขนาดรวมกันเกิน 800 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้
คุณ Wang Hong กล่าวว่า “เรามีความก้าวหน้าอย่างมากในตลาดโลก ซึ่งสอดรับกับนโยบาย One Belt, One Road ของทางการจีน ต้องยกความดีความชอบให้กับเทคโนโลยีการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทันสมัยของเรา รวมถึงประสบการณ์อันโชกโชนในการดำเนินโครงการในต่างแดน ทั้งนี้ เนปาลเป็นจุดหมายสำคัญตามแนวเส้นทางสายไหม และเป็นตลาดที่ดึงดูดใจเรา ตลอด 7 ปีนับจากนี้ไป เนปาลจะเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการผลิตไฟฟ้า 17,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ดี แม้เนปาลจะมีทรัพยากรน้ำเหลือเฟือ แต่พลังงานน้ำอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จึงต้องอาศัยพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย ซึ่งเนปาลก็มาถูกทางแล้ว ในอนาคต เราวางแผนว่าจะลงทุนและพัฒนาโครงการ EPC เพิ่มเติมในเนปาลและทั่วภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์พลังงาน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีนกับเนปาลในส่วนของพลังงานใหม่”
รูปภาพ – https://photos.prnasia.com/prnh/20180503/2123160-1