RISC เผยชื่อ 4 สุดยอดกูรูชั้นนำระดับโลก พร้อมตบเท้าเข้าร่วมกระตุกต่อมความคิดในงาน WATS Forum 2019

0
451
image_pdfimage_printPrint

RISC เผยชื่อนักคิด นักวิจัย และนักวิชาการชั้นนำระดับโลก ที่พร้อมเข้าร่วมแบ่งปันไอเดีย แชร์ประสบการณ์ ส่งต่อองค์ความรู้ในการพัฒนาการออกแบบ งานสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนในงาน WATS FORUM 2019 เสวนาระดับนานาชาติ วันที่ 3 มิถุนายนนี้ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมเปิดให้สำรองที่นั่งแล้ววันนี้ ฟรี!!! รับจำนวนจำกัด

รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากสุดยอดกูรู จำนวน 4 ท่าน ซึ่งเป็นทั้งนักวิชาการ นักคิดและนักวิจัย ที่หาตัวจับยาก เนื่องจากเป็นกูรูระดับโลกที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้และมุมมองในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน Well–being จะมาร่วมแบ่งปันแนวคิดทั้งด้านการออกแบบ การสร้างสถาปัตยกรรม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และเป็นแนวทางในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอย่างเป็นรูปธรรม โดย กูรูทั้ง 4 คนนี้ ได้แก่

รศ. ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ – วิศวกรคนไทยผู้ได้ชื่อว่า เป็นนักซ่อมสมองมนุษย์ ท่านจะมาถ่ายทอดให้เราได้เห็นว่าการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านคลื่นไฟฟ้าสมองกับวิศวกรรมศาสตร์มาผนวกรวมกันเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเอกที่จะสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปตลอดกาลนั้น ทำได้อย่างไร และเราจะมีการส่งต่อแนวคิดและต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร อีกท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ ไมเคิล สตีเวน สตราโน – นักวิศวเคมีจาก MIT ผู้ไขความลับสูตรการพัฒนาสิ่งมีชีวิตเรืองแสง ท่านผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนไบโอนิค จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT มีผลงานตีพิมพ์ด้านการวิจัย และประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมกว่า 50 ฉบับ และเป็นผู้ก่อตั้งสาขาวิชา Plant Nanobionics ซึ่งศึกษาและพัฒนาพืชให้มีความสามารถแปลกๆ ในงานเสวนาครั้งนี้ เราจะได้ทราบว่า ศ. ไมเคิล สตีเว่น สตราโน จะนำความมหัศจรรย์ของพืชและสิ่งมีชีวิตเรืองแสงมาสู่การสร้างความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนนั้นเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ เรายังได้รับการตอบรับจาก มร. เชอริง ต๊อบเกย์ – อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ผู้ยึดหลักความสุขมวลรวมของชาติสำคัญกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ท่านผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็น นักสร้างความสุข ผู้แบ่งปันเรื่องราวพันธกิจของประเทศภูฏาน ที่ใช้ความสุขของประชากรเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของประเทศ ดัชนีชี้วัดความสุขนี้เป็นอย่างไร และให้ประโยชน์อะไรและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ ความสุขพื้นฐานของผู้คนและการเจริญของประเทศได้อย่างไร อีกท่านหนึ่ง คือ มร. สเตฟาน เดอ โคนิง – สถาปนิกชาวดัตช์ที่มากด้วยฝีมือและความสามารถ จาก MVRDV สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองชื่อดังระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสนอการแก้ปัญหาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยและการฟื้นฟูเมือง ที่ฝากผลงานการออกแบบไว้อย่างมากมายจนได้รับรางวัลและเป็นที่รู้จักของนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าดีไซน์สุดล้ำ The Gyre บนถนนโอโมเตะซันโด ใจกลางกรุงโตเกียว Peruri88 โครงการมิกซ์ยูสใจกลางกรุงจาการ์ตา ที่ประกอบด้วยที่พักอาศัย สำนักงาน พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่สาธารณะ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่สีเขียวท่ามกลางความหนาแน่นของชุมชนเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะพานข้ามถนน 6 แห่ง ในเมือง Leiria ประเทศโปรตุเกส ที่ถูกออกแบบให้แตกต่างกันตามความเหมาะสมเพื่อการใช้งาน โดยทุกการออกแบบจะต้องร่วมสมัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเขาได้ดูแลโครงการในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย จนทำให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกของ MVRDV นอกจากนี้เขายังเป็นติวเตอร์ที่ Delft University อีกด้วย ด้วยผลงานระดับโลกดังกล่าว เราจะได้รู้กันว่า มร. สเตฟาน เดอ โคนิง จะนำองค์ความรู้นี้มากระตุกต่อมคิดด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนได้อย่างไร

รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต กล่าวเสริมในท้ายที่สุดว่า การที่จะนำกูรูทั้ง 4 มาอยู่ในฟอรั่มเดียวกันเพื่อถ่ายทอดแนวคิดการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนในแง่มุมต่างๆนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านอสังหาฯ และผู้สนใจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเปลี่ยนชีวิตทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ควรพลาดที่จะเข้ารับฟังอย่างยิ่ง ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ได้เปิดให้ผู้สนใจสามารถติดต่อสำรองที่นั่งได้แล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ https://risc.in.th/watsforum/registration/#register ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ขอย้ำว่า มีผู้สนใจเข้ารับฟังมีจำนวนมากจริงๆ และที่นั่งมีจำนวนจำกัด ดังนั้น ทางศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการสำรองที่นั่งตามลำดับการจองก่อนหลัง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC

อย่าพลาดงาน “WATS Forum 2019” เสวนาระดับนานาชาติ https://www.youtube.com/watch?v=PoQ36SGlBBU