RISC ผนึกกำลัง MQDC GC และ Carpet Maker จัดงาน UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019 ตอกย้ำแนวคิด Sustainnovation

0
313
image_pdfimage_printPrint

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ที่มุ่งมั่นในการสร้างและพัฒนาแนวคิดผ่านนวัตกรรมจากความร่วมมือกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แนวทาง ‘Sustainnovation’ คือการค้นหานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกโครงการของ MQDC ที่เราให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาทำให้เกิดประโยชน์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งมีการนำหลัก Circular Economy มาปรับใช้พร้อมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้ชีวิตในรูปแบบ GC Circular Living และพันธมิตรจากหลากหลายวงการ จัดงานแถลงข่าวและเปิดงาน UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019 การแสดงผลงานการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมจากกระบวนการ Upcycling เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้สู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสามารถใช้งานจริงในที่อยู่อาศัย

โดยมีไฮไลท์คือการเปิดตัวพรมทอมือที่ทำจากขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเลครั้งแรกของโลก พร้อมการเสวนา UPCYCLING FOR A BETTER WORLD จากตัวแทนแต่ละภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อน ตั้งแต่ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ Upcycled จริง นำโดย คุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) คุณสุนทร ไกรตระกูล ประธานกรรมการบริษัท บริษัท คาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และคุณอเล็กซ์ เรนเดล จาก ENVIRONMENTAL EDUCATION CENTRE THAILAND (EEC Thailand) ณ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์

คุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นตั้งใจของ MQDC นับตั้งแต่เริ่มต้นบริษัทภายใต้แนวคิด For all Well-being เรารู้ว่าการก่อสร้างอาคารหนึ่งหลังใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และสร้างขยะจำนวนมากเช่นกัน ที่ผ่านมา MQDC พยายามหารูปแบบการก่อสร้างสมัยใหม่มาใช้ในอาคารของเราทุกโครงการ เพื่อลดปริมาณขยะ แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของการก่อสร้างที่ดีเยี่ยมจนเราได้รับข้อมูลเรื่องวัสดุก่อสร้างในรูปแบบ Upcycling ที่ทำจากขยะ จากทีมวิจัยของ RISC โดย MQDC และพันธมิตร จึงได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม Upcycling เพื่อใช้ในโครงการต่าง ๆ ด้วยการใช้วัสดุก่อสร้างจากขยะพลาสติก เช่น อิฐปูทางเท้า พื้นปูถนน ที่รับน้ำหนักและทนทานไม่ต่างจากอิฐหรือบล็อกปูถนนปกติที่ใช้กันอยู่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในไทยที่วงการอสังหาริมทรัพย์นำพลาสติกที่ผ่านกระบวนการ Upcycling มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างในโครงการ และยังเตรียมขยายการใช้พลาสติกมาเป็นส่วนผสมของวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของการก่อสร้าง และเราเชื่อว่าจะทำให้อสังหาริมทรัพย์เติบโตควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีได้”
“เราจึงผนึกกำลังกับพันธมิตร Upcycling ในการนำวัสดุที่ใช้แล้ว นำไปพัฒนาเป็นองค์ประกอบอาคารส่วนต่างๆ ให้กับอสังหาริมทรัพย์ในโครงการต่าง ๆ ทั้งภายในอาคารจนถึงภายนอกอาคาร ตั้งแต่ผนังห้อง หลังคา เฟอร์นิเจอร์ ทางเดินเท้า และส่วนตกแต่งพื้นที่สีเขียวของโครงการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน” หรือ Circular Economy ที่นำผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำเพื่อทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง” คุณวิสิษฐ์ กล่าว
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ทุกคนทราบกันดีว่าโลกมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถกำจัดหมด RISC ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและการแบ่งปันองค์ความรู้ ที่มีนักวิจัยหลากหลายด้าน จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรในการคิดค้น และพัฒนาแนวทางวิธีการกำจัดขยะ โดยนำนวัตกรรมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับขยะหลากหลายรูปแบบ”
“เรามีการวิจัยเรื่องการนำกระบวนการ Upcycling มาออกแบบและสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จากขยะให้มีมูลค่าเพิ่ม (Upcycle Up Value) ซึ่งผลงานที่พัฒนาและคิดค้นขึ้นนี้มีความสวยงามไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์ใหม่และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง โดยในวันนี้เรามีผลงานและนวัตกรรมบางส่วนมาจัดแสดงในงาน โดยเฉพาะพรมทอมือที่ทำจากขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเลครั้งแรกของโลก และงานออกแบบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยผลงานทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่ง RISC ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันพัฒนาต่อยอดผลงานในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมต่อไป และผมมองว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน ตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของตนเอง ทุกคนก็จะสามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกของเราได้” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า “บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนสามารถร่วมมือกันได้ รวมไปถึงการบริหารจัดการขยะผ่านการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวทางที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน เรามีการเดินหน้าในหลายโครงการที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เป็นการเก็บขยะพลาสติกจากทะเลและชายหาดมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น อาทิ เสื้อ กระเป๋า โครงการ ThinkCycle Bank มุ่งให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในการจัดการขยะให้กับเด็กและเยาวชน และโครงการ PPP Rayong โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการขยะ เป็นต้น”
“สำหรับการร่วมมือกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และ MQDC นับเป็นก้าวสำคัญของ GC สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากวัสดุ Upcycling จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ช่วยจุดประกายและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่คงทน แข็งแรง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเราริเริ่มโครงการ Upcycling Plastic Waste ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะพลาสติกให้กลายเป็นวัสดุที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติก โดยในครั้งนี้หน้าที่หลักของ GC คือการร่วมพัฒนาด้าน Upcycling Material สำหรับการตกแต่งบ้านและสิ่งก่อสร้างต่างๆ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาทิ Upcycled Carpet พรมที่ทอโดยเส้นใย Recycle ที่มาจากขวดน้ำ PET, Concrete Edging Block for Curbs and Walkways บล็อกคอนกรีตผสมขยะพลาสติกสำหรับถนนและทางเดิน และ Landscape Elements การพัฒนาวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์รอบอาคารจากขยะพลาสติก เช่นคอนกรีตและวัสดุไม้เทียมจากขยะพลาสติก เป็นต้น” คุณวราวรรณ กล่าว
ด้าน คุณสุนทร ไกรตระกูล ประธานกรรมการบริษัท บริษัท คาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในพันธมิตร Upcycling กล่าวว่า “Carpet Maker เป็นบริษัทที่ผลิตพรมคุณภาพสูงที่ส่งให้กับบริษัทชั้นนำทั่วโลก และสถานที่สำคัญ เช่น พระราชวัง เรือ Super Yacht Private Jet รวมทั้ง Hi End Fashion หลาย Brand ดัง ๆ ในยุโรป ผมเองมีความหลงใหลในหัตถกรรมพื้นบ้านและความประณีตในงานฝีมือที่ผลิตโดยชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จึงได้เปิดโรงงานทอพรมมาตรฐานสากลที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ชาวบ้านมีโอกาสในการทำงานที่ใกล้บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว ดูแลลูกและพ่อแม่ ผู้สูงอายุ”
“ผมเห็นว่าปัญหาของขยะพลาสติกในปัจจุบันมีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่และเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนทุกคนให้ความสำคัญกับปัญหานี้ แต่จะมีกี่คนที่ลงมือทำในสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.สิงห์ RISC ก็ได้เห็นโอกาสที่ผมจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมชอบคำว่า Upcycling มันดูต่างจาก Recycle เพราะมันเป็นการเปลี่ยนสิ่งที่เป็นปัญหาให้กลายมาเป็นของที่มีคุณค่าสูงขึ้น
ทางบริษัท Carpet Maker จึงได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาพรมทอมือที่ทำจากเส้นใยแปรรูปขยะขวดพลาสติกจากทะเลมาเป็นผลิตภัณฑ์พรมที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าพรมทั่วไปในท้องตลาด อาทิ ป้องกันคราบสกปรก เชื้อรา นุ่ม ดูแลง่ายและป้องกันไฟในระดับมาตรฐานสากล ASTM D2859 เป็นต้น”
“เราได้นำเอานวัตกรรมและเทคนิคการผลิตพรมทอมือที่เรามีมากว่า 30 ปีผสมผสานกับการออกแบบของดีไซน์เนอร์ชั้นนำ เพื่อทำให้เกิดพรมทอมือ Upcycling Carpet ที่มีดีไซน์สวยงาม หรูหรา คุณสมบัติที่โดดเด่นประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะกับโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ และแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งคาดว่าหากเปิดตัวแล้ว น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของผู้บริโภคในการเลือกของใช้ภายในบ้านที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ www.thecarpetmaker.com” คุณสุนทร กล่าว

ด้าน คุณอเล็กซ์ เรนเดล นักแสดงชื่อดังหัวใจรักสิ่งแวดล้อม และผู้ก่อตั้ง ENVIRONMENTAL EDUCATION CENTRE THAILAND หรือ EEC Thailand กล่าวว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหามลพิษทางอากาศ หรือปัญหาของขยะที่เราพบเห็นกันบ่อย และตอนนี้เรื่องของขยะทะเลกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของการอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในอับดับต้น ๆ ของโลกที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด และส่วนใหญ่ขยะที่พบในทะเลคือขยะพลาสติก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลต้องจบชีวิตลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกำลังเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงระบบนิเวศที่กำลังถูกทำลายด้วยมือของมนุษย์ โดยจุดนี้เองทำให้เราเกิดความรู้สึกที่อยากจะรักษาและปกป้องไม่ใช่แค่ในระยะสั้น แต่เรามองถึงระยะยาว”
“เวลาผมไปออกค่าย EEC เราจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการพาเด็ก ๆ ไปดำน้ำ โดยทุกคนจะพบความสวยงามของโลกใต้ทะเล แต่ในขณะเดียวกับ เราก็จะพบกับขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลมากมาย ทำให้ผมนั่งคิดว่า เราจะมีวิธีการจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ตรงนี้ผมมองว่าเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมาก โดยในการทำค่ายของ EEC นั้นเราจะพาเด็ก ๆ ไปสัมผัสถึงความสวยงามของธรรมชาติ และเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่จากรูปภาพ เพราะผมมีความเชื่อเสมอว่า การศึกษาและการได้สัมผัสประสบการณ์จริง จะทำให้เด็ก ๆ เกิดความรักในสิ่งที่เขากำลังเรียนรู้ และเมื่อเขารักและเข้าใจ เขาก็พร้อมที่จะปกป้องมันมากขึ้น และเราต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ ถึงผลดีและผลเสียของขยะแต่ละชนิด เช่น พลาสติกไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป แต่มีประโยชน์มากมายทั้งในชีวิตประจำวันไปจนถึงวงการแพทย์ได้ด้วยหากมีการจัดการที่ดี สุดท้ายแล้วปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น” คุณอเล็กซ์ กล่าว