RAM Ratings ชี้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารของไทยอยู่ในภาวะที่ดีเมื่อเทียบธนาคารอื่นๆในภูมิภาค

0
229
image_pdfimage_printPrint

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย–10 เม.ย.–เบอร์นาม่า-เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์

 

หว่อง หยิน ชิง หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับสถาบันการเงินของ RAM Rating Services Berhad เปิดเผยในรายงานการวิจัยของบริษัท เรื่อง Leading ASEAN Banks ว่า คุณภาพของสินทรัพย์ในระบบการธนาคารของไทยเมื่อปี 2555 อยู่ในภาวะที่ดี แม้ว่าได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี จนส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ รายงานดังกล่าวนำเสนอธนาคารที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นในกลุ่มอาเซียนจำนวน 20 ธนาคาร ซึ่งรวมถึงธนาคารรายใหญ่ของไทย 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)

 

โซเฟีย ลี หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับสถาบันการเงิน กล่าวว่า การปล่อยเงินกู้ในระบบการธนาคารของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2555 โดยมีอัตราการขยายตัว 13.7% นอกจากการอนุมัติเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว การอนุมัติเงินกู้ในภาคครัวยังขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นเพราะได้รับแรงผลักดันจากมาตรการกระตุ้นของทางรัฐบาลไทย เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการใช้นโยบายจูงใจด้านภาษีสำหรับผู้ซื้อรถคันแรก ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศก็ดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อปีที่แล้ว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 6.6% แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลงก็ตาม

 

การผ่อนคลายเกณฑ์การประเมินหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เป็นการชั่วคราวของหน่วยงานกำกับดูแล ช่วยให้ NPL ในระบบการธนาคารของไทยอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ สัดส่วน NPL ของธนาคารอยู่ที่ 2.3% ในช่วงสิ้นปีพ.ศ. 2555 (ช่วงสิ้นปีพ.ศ. 2554 อยู่ที่ 2.7%) การเพิ่มขึ้นของ NPL ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมในไทยนั้นอาจจะมีอยู่ เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทยใกล้จะสิ้นสุดลง แต่เราไม่คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ในระบบธนาคาร เรามองว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมสามารถกลับมาดำเนินงานได้แล้ว

 

หยิน ชิง กล่าวว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารในภูมิภาคแล้ว ระบบการธนาคารของไทยยังคงมีสินทรัพย์ที่ยึดได้จากการผิดนัดชำระหนี้และเงินกู้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างแล้ว อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งเงินกู้ที่สืบเนื่องมาจากช่วงวิกฤตการเงินในเอเชีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3-8% ของยอดเงินกู้โดยรวมและสินทรัพย์ที่ยึดได้จากการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคารของไทยทั้ง 6 แห่งที่มีชื่ออยู่ในรายงานฉบับนี้ ธนาคารที่มีอัตราการปล่อยกู้แก่บริษัท และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ที่สูงขึ้น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกร

 

“ศักยภาพในการทำกำไรของภาคการธนาคารของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยผลตอบแทนเฉลี่ยของสินทรัพย์อยู่ที่ 1.7% ธนาคารที่มีการลงทุนมากขึ้นในธุรกิจรีเทล แบงกิ้ง และธุรกิจ SME ที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทยนั้น มีผลกำไรที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การระดมทุนในระบบการธนาคารของไทยยังฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน สัดส่วนเงินกู้ต่อเงินฝากในภาคการธนาคารลดลงมาอยู่ที่ระดับ 96% ณ สิ้นปีพ.ศ. 2555 จากระดับกว่า 100% ในปีพ.ศ. 2554 ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยได้ใช้ข้อกำหนดด้านเงินทุนที่มีความเข้มงวดมากกว่าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลด้านการธนาคารของคณะกรรมการบาเซิลได้แนะนำไว้ โดยมีการกำหนดว่าธนาคารของไทยจะต้องมีการสำรองเงินทุนขั้นที่ 1 ขั้นต่ำในสัดส่วน 4.5% มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ปีพ.ศ. 2556  ซึ่งสูงกว่าที่คณะกรรมการบาเซิลแนะนำไว้ 1% ส่วนธนาคารของไทยที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการตามเกณฑ์ดังกล่าวได้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเงินทุน” โซเฟียกล่าว

 

กรุณาคลิก เพื่อดาวน์โหลดรายงาน Leading ASEAN Banks ได้ที่

http://www.ram.com.my/docs/publication/Leading520ASEAN%20Banks%20%28final%29.pdf

 

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือนี้ ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อ ขาย หรือถือสินทรัพย์ และไม่ใช่การแสดงความเห็นเกี่ยวกับราคาตลาดของหุ้นนั้นๆ หรือความเหมาะสมของนักลงทุน หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบัญชีที่ดำเนินการโดย RAM Ratings

 

RAM Ratings ได้รับค่าตอบแทนจากบริการจัดอันดับ โดยปกติจะได้รับจากผู้ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ และบางครั้งได้รับจากบุคคลที่สามซึ่งมีส่วนร่วมกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ค้ำประกัน ผู้มีภาระผูกพัน ผู้จำหน่ายหลักทรัพย์ ฯลฯ อย่างไรก็ดี การได้รับค่าตอบแทนเหล่านี้ไม่มีผลต่อการให้ความเห็นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือหรือกระบวนการวิเคราะห์อื่นๆของ RAM Ratings ทั้งนี้ RAM Ratings มีความตั้งใจที่จะรักษาความเป็นกลาง ความซื่อสัตย์ และความเป็นอิสระของการจัดอันดับในทุกกรณี RAM Ratings จะพูดคุยเรื่องค่าธรรมเนียมในการจัดอันดับกับลูกค้าก่อนให้ความเห็นในการจัดอันดับ RAM Ratings มีสิทธิ์เผยแพร่ผลการจัดอันดับแม้ไม่ได้รับค่าตอบแทน ยกเว้นจากผู้ลงทะเบียนรับเอกสารเผยแพร่จากบริษัท

 

ทั้งนี้ ข้อความข้างต้นใช้กับบทวิเคราะห์และบทวิจารณ์เกี่ยวกับการจัดอันดับอื่นๆของ RAM Ratings ด้วยเช่นกัน

 

เผยแพร่โดย RAM Rating Services Berhad

(C) สงวนลิขสิทธิ์ 2556 โดย RAM Rating Services Berhad