OIE Forum 2556: Next Generation of Thai Industry “อุตสาหกรรมยุคใหม่” ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต

0
364
image_pdfimage_printPrint

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเปิดเวทีระดมมุมมองและความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน และภาครัฐ ในงานสัมมนา OIE Forum 2556: Next Generation of Thai Industry “อุตสาหกรรมยุคใหม่” ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต เพื่อนำเสนอแนวโน้มสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแนวทางปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันแปร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เวลา 08.30 – 15.30  น.

1 ภาพข่าวลีด

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า  การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันสูงและรุนแรงในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้เป็นภารกิจหลักที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 40%   หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.86 ล้านล้านบาท

ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยนับจากนี้เป็นต้นไปถือว่าอยู่ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมปี 2555-2574 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และยั่งยืนในอนาคต เพื่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ   โดยมีการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็น 3 ระยะ กล่าวคือ

เป้าหมายในระยะที่ 1 เป็นการสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตในระดับภูมิภาคเตรียมความพร้อมสู่ AEC โดยเริ่มจากการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคที่มี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทั้งในด้านแรงงาน วัตถุดิบ เทคโนโลยี มาตรฐาน วิจัยและพัฒนา จัดเขตพื้นที่ศูนย์ทดสอบ เป็นต้น พัฒนาคลัสเตอร์ และการเข้าไปสู่การเป็นผู้ผลิตในภูมิภาคจากการสร้าง ASEAN Supply Chain และพัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายในระยะที่ 2 เป็นช่วงเวลาของการมุ่งเน้นการพัฒนาต่อจากการพัฒนาฐานความรู้เพื่อนำมา  ต่อยอดในการพัฒนาภาคการผลิตและสินค้า เน้นการผลิตสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับบทบาทประเทศไทยให้เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับในอาเซียน โดยการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าและบริหารจัดการการผลิตและจัดการเครือข่ายในภูมิภาค ยกระดับการผลิตวัตถุดิบเพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการสร้างนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาพลักษณ์ตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในอาเซียน

เป้าหมายในระยะที่ 3 เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านตราสินค้าไทยที่ก้าวไกลในตลาด    โลก เป็นผู้บริหารจัดการตราสินค้าที่มีเครือข่ายการผลิตจากในภูมิภาคที่เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และอุตสาหกรรม     ไทยเป็นที่ยอมรับ โดยมีความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่หลักที่สำคัญในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล  และที่สำคัญคือ  ต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกในทุกมิติ

สำหรับกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้การกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคต  ให้อยู่ภายใต้แนวความคิดของ ”อุตสาหกรรมสีเขียว” หรือ Green Industry  เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งระบบเกิดความยั่งยืน โดยจะต้องคำนึงถึงการผลิตที่เกิดความสมดุลใน  3  ด้าน  คือ เศรษฐกิจ  สังคม และสิ่งแวดล้อม  เติบโตพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน  ซึ่งสิ่งนี้เปรียบเสมือนแกนหลักที่สำคัญของ  “อุตสาหกรรมสีเขียว “  และ  “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้จัดงาน เปิดเผยว่าในงานมีผู้เข้าร่วมประมาณ 800-1,000 คน ประกอบด้วยนักวิชาการ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ตลอดจนบุคคลทั่วไปผู้ที่สนใจทิศทางและนโยบายของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตลอดจนแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของโลก ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลง เพื่อความเข้มแข็งและอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community : AEC ) เป็นจังหวะและโอกาสที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมและเตรียมตัวรองกับกับการเปลี่ยนแปลง

“สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายข้อมูลเพื่อการชี้นำและเตือนภัยของภาคอุตสาหกรรม  จะเปิดเวทีระดมความคิดเห็นในลักษณะนี้ทุกปี เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีข้อมูลที่มากพอใจสำหรับตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ และนำไปเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันได้ในอนาคตต่อไป” ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าว