Mintel เผยผลสำรวจชี้กลุ่มผู้บริโภคใส่ใจเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ประเทศต้องเผชิญมากกว่าสาเหตุหรือต้นตอของปัญหา

0
670
image_pdfimage_printPrint

ผลการวิจัยล่าสุดจาก Mintel Sustainability Barometer เปิดเผยว่า ผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะมองว่าประเทศของตนเองกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะมองว่าประเทศของตนเป็นต้นตอของปัญหา ในขณะที่ผู้บริโภคทั่วโลกเฉลี่ย 44% มองว่าประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และผู้บริโภคเฉลี่ย 33% เชื่อว่าประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่มีส่วนที่ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ผู้บริโภคจากประเทศอิตาลี (20%), บราซิล (21%), เกาหลีใต้ (24%) และสเปน (29%) จัดเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเชื่อว่าประเทศของตนเองมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด ในทางกลับกันผู้บริโภคจากสหราชอาณาจักร (44%), เยอรมนี (45%) และสหรัฐอเมริกา (46%) เป็นกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าประเทศของตนมีบทบาทสำคัญที่จะสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสัดส่วนที่สูงสุดคือผู้บริโภคชาวแคนาดาเกินกว่าครึ่งหรือ 51% เชื่อเช่นนั้น

เครื่องมือใหม่ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเรื่องความยั่งยืนอย่าง Mintel Sustainability Barometer ได้รวบรวมผลการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกเชิงทัศนคติ พฤติกรรมและความชอบในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคใน 16 ประเทศทั่วโลก พร้อมข้อเสนอและคำแนะนำที่เหมาะสำหรับแบรนด์ต่างๆ จากการอ้างอิงข้อมูลนวัตกรรม การสื่อสาร และแคมเปญต่าง ๆ ที่ดีที่สุด

ริชาร์ด โคป (Richard Cope) ที่ปรึกษาอาวุโสจากทีม Mintel Consulting กล่าวว่า

“ดูเหมือนว่าจะยังมีช่องว่างในเรื่องความเข้าใจที่มีต่อประเด็นความยั่งยืน โดยมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างวิถีการบริโภคของผู้บริโภคที่มาพร้อมกับต้นเหตุของปัญหาสภาพภูมิอากาศกับความเป็นจริงที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ทุกคนควรรับรู้ เราเห็นว่ามีความคิดที่แตกต่างกันไปในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่มากมาย เช่น ผู้บริโภคในประเทศบราซิลที่มองว่า ความรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศจากการตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกอันเนื่องมาจากความต้องการรับประทานเนื้อสัตว์และถั่วเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการใช้ไม้ซุงที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า และในกรณีของผู้บริโภคในยุโรป หากมองความเป็นจริงแล้ว ประเทศเหล่านี้กลับเป็นผู้ปล่อยมลพิษแล้วโยนความรับผิดชอบไปยังกลุ่มประเทศผู้ผลิต เช่น ประเทศจีน และดูเหมือนว่าความคิดดังกล่าวจะถูกกลืนหายไปในตัวผู้บริโภค เมื่อถึงเวลาที่ผู้บริโภคเหล่านี้ได้พิจารณา ก็จะมีการกล่าวโทษในเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไปยังผู้ผลิตเสียมากกว่า”

“อีกหนึ่งความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับบริษัทและแบรนด์ต่าง ๆ ก็คือ การสร้างความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้บริโภค เพื่อที่บริษัทและแบรนด์จะได้วางจุดยืนของผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ดีกว่าเดิม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออกให้กับการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากยิ่งขึ้นที่ติดใจกับเรื่องความยั่งยืนและผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ดังนั้น การสื่อสารและอธิบายความเป็นมาของปัญหา ตลอดจนความท้าทายทางธุรกิจที่บริษัทต้องเผชิญแก่ผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ การขยับขึ้นเป็นผู้นำในการสร้างความมั่นใจเชิงบวกที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และที่นอกเหนือไปจากนั้นอาจเป็นการผนึกกำลังกับภาครัฐผ่านข้อความและแคมเปญที่น่าติดตาม ก็จะสามารถช่วยสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การเปิดรับฟังแนวคิดในสารคดีที่มีเนื้อหาปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Seaspiracy และ Kiss the Ground ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน”

ผู้บริโภคจะจดจำและใส่ใจบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อการปรับปรุงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากที่สุด

เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า ใครคือผู้ที่ควรจะรับผิดชอบปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนมากที่สุด ผู้บริโภคต่างบอกว่าบริษัทควรจะรับผิดชอบปัญหาต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นมากที่สุด โดยผู้บริโภคทั่วโลกเกือบครึ่ง (48%) เชื่อว่า บริษัทต่าง ๆ ควรที่จะรับผิดชอบเรื่องจำนวนบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่ 1 ใน 4 (25%) เชื่อว่าความรับผิดชอบเป็นของผู้บริโภค และเพียง 1 ใน 5 (20%) ที่เห็นว่าภาครัฐควรจะรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน 2 ใน 5 ของผู้บริโภคทั่วโลก (41%) เชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ ควรรับผิดชอบในการลดปริมาณการปล่อยมลพิษจากการขนส่งทางอากาศ ในขณะที่ผู้บริโภค 36% เชื่อว่าควรเป็นมาตรการจากภาครัฐและมีเพียง 12% ที่คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคเอง

จากข้อมูลของผู้บริโภคทั่วโลก บริษัทขนส่งผู้โดยสาร (เช่น สายการบิน บริษัทแท็กซี่ และรถไฟ) ถือเป็นผู้ที่ควรรับผิดชอบการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากที่สุด (44%), รองลงมาคือผู้ผลิตสินค้าใช้งานภายในครัวเรือน (39%) และผู้ผลิตเนื้อสัตว์/ปลาบรรจุหีบห่อ (35%)

ริชาร์ด กล่าวต่อไปว่า “สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEC) เชื่อว่า การลดปริมาณการปล่อยมลภาวะสะสมมากกว่าครึ่งที่จำเป็นทต้องลดลงให้เหลือศูนย์นั้นมีความเชื่อมโยงกับตัวเลือกในการบริโภคอย่างรับผิดชอบของผู้บริโภค ทางผู้บริโภคเองก็มีเหตุผลมากมายที่จะยกความรับผิดชอบเหล่านี้ให้กับบริษัทผู้ผลิต เช่น กลุ่มผู้ประท้วงที่มีความคิดว่าบริษัทผู้ผลิตเป็นต้นเหตุของปัญหาและปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็เกินขอบเขตความสามารถที่ผู้บริโภคจะช่วยได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการกล่าวโทษกันไปมาโดยเริ่มจากการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าและการรีไซเคิล ข้อมูลวิธีการรีไซเคิลที่ไม่ชัดเจนจากบริษัทผู้ผลิต และการ ‘จัดการ’ขยะจากภาครัฐที่ในความเป็นจริงแล้วกลับส่งออกขยะไปฝังกลบหรือเผาทิ้ง แทนที่จะใช้วิธีที่เหมาะสม”

ผู้บริโภคกับไอเดียที่ว่าบริษัทต่าง ๆ สามารถทำอะไรได้บ้าง

หากถามว่าอะไรคือสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่อ้างว่ามีประโยชน์หรือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคมักจะมองหาข้อมูลที่ว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าของตนเองจะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงอย่างไรบ้าง เช่น การปลูกต้นไม้หนึ่งต้นต่อการซื้อหนึ่งครั้ง (48%) โดยผู้บริโภคยังมองหาฉลากที่ระบุถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา (47%) หรือแม้แต่ 2 ใน 5 (42%) ของผู้บริโภคที่หาข้อมูลการใช้ระบบวัดผลกระทบที่เข้าใจง่าย เช่น ปริมาณลิตรของน้ำที่ใช้หรือระยะการเดินทางเป็นกิโลเมตร ในขณะที่ 41% ของผู้บริโภคมองหาใบรับรองที่เป็นที่ยอมรับเพื่อเป็นการพิสูจน์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น B-corp*

“ผู้บริโภคต้องการให้บริษัทต่าง ๆ ใช้คำพูดและข้อมูลที่เรียบง่ายในการอธิบายถึงผลกระทบที่สามารถวัดได้และเกิดขึ้นโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมจากการซื้อสินค้าของตนเอง ดังนั้นการที่จะสร้างความเชื่อในเชิงวิทยาศาสตร์และแปรเปลี่ยนให้เป็นโอกาสเพื่อให้เกิดการซื้อสินค้าอย่างเป็นรูปธรรมนั้น บริษัทจะต้องนำเสนอเรื่องราวหรือข้อมูลในเรื่องความยั่งยืนแก่ผู้บริโภคแบบที่เข้าใจได้ง่าย”

“นอกจากความต้องการในการรับรองจากองค์กรต่าง ๆ แล้ว เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคต้องการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่พวกเขาสามารถทำได้ผ่านการซื้อสินค้า เพื่อตอกย้ำความเชื่อที่ว่าการซื้อสินค้าของตนเองจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ความท้าทายที่เกิดขึ้นเหล่านี้คล้ายคลึงกันกับความท้าทายในการติดป้ายข้อมูลโภชนาการกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนั้นการนำ “traffic light system” มาประยุกต์ในฤดูใบไม้ร่วงที่ใกล้มาถึง จึงเป็นเหตุผลที่ดีของการดำเนินการในเรื่องความยั่งยืน เช่น บริษัทเนสท์เล่และซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในสหราชอาณาจักรที่จะผนวกข้อความที่สวยงามและเข้าใจง่ายกับเป้าหมายที่ต้องการสื่อผ่านการรับรองจากองค์กรต่าง ๆ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมว่ากรรมวิธีการผลิตและสถานที่ผลิตนั้น สามารถประเมินและติดตามได้ที่ไหนและอย่างไร” ริชาร์ด กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ:

*Certified B Corporations เป็นธุรกิจที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานสูงสุดของผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยืนยันความโปร่งใสต่อสาธารณะ และความรับผิดชอบทางกฎหมาย เพื่อสร้างสมดุลระหว่างกำไรและพันธกิจขององค์กร

Mintel Sustainability Barometer รวบรวมผลการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกด้านทัศนคติ พฤติกรรมและความชอบในการซื้อของผู้บริโภค; จากการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 500 คน ที่มีอายุระหว่าง 16/18+ ใน 16 ประเทศ ในเดือนมีนาคม 2564

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 500 คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ในประเทศบราซิล, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์, อิตาลี, โปแลนด์, สเปน

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 500 คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในประเทศออสเตรเลีย, แคนาดา, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไทย, สหรัฐอเมริกา

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ mintel.com/consumer-sustainability-barometer