LaPresse เผยสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโกทรงแสดงความกังวลต่อการตัดสินใจของประธาธิบดีสหรัฐ

0
314
image_pdfimage_printPrint

สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก ในฐานะองค์ประธานคณะกรรมการอัลกุดส์ (Al-Qods Committee หรือคณะกรรมการเยรูซาเลม) ได้ทรงส่งพระราชสาส์นแสดง “ความวิตกอย่างยิ่งของพระองค์ รวมถึงความกังวลของประชาชนในรัฐอาหรับและประเทศมุสลิม” ไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา หลังมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ในการ “รับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และย้ายสถานทูตสหรัฐไปยังเมืองดังกล่าว”

อัลกุดส์เป็นชื่ออารบิกของเมืองเยรูซาเลม และคณะกรรมการอัลกุดส์อาหรับเป็นองค์การความร่วมมืออิสลามที่มุ่งปกป้องสถานะอาหรับ-มุสลิมของเมืองนี้ ซึ่งถือเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ชาวยิว และชาวคริสต์

“ในฐานะองค์ประธานคณะกรรมการอัลกุดส์แห่งองค์การความร่วมมืออิสลาม ซึ่งมีรัฐ 57 รัฐเป็นตัวแทนของพลเมืองมากกว่าหนึ่งพันล้านคน ข้าพเจ้าขอขียนถึงท่าน” สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ตรัส พร้อมกับทรงเตือนว่า แผนการใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยสหรัฐอเมริกาอาจเป็นอันตรายต่อกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง

สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงพระราชหัตถเลขาถึงนายทรัมป์ ว่า “นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่ง ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและการตัดสินใจอันแน่วแน่ที่จะฟื้นกระบวนการสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล และได้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ในทิศทางดังกล่าวอย่างมีความหวัง ด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากประชาคมโลก ซึ่งรวมถึงราชอาณาจักรของโมร็อกโก แต่การตัดสินใจล่าสุดนี้อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพในความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล”

“ภูมิภาคตะวันออกใกล้อยู่ในจุดวิกฤติที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับการหลีกเลี่ยงทุกๆ เรื่องที่อาจเพิ่มความรู้สึกไม่พอใจและความผิดหวังอันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาไปสู่ลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้าย” สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของนครเยรูซาเลมที่มีต่อสามศาสนา ว่า “เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะของศาสนา นครเยรูซาเลมจึงต้องรักษาไว้ซึ่งดินแดนและสัญลักษณ์แห่งการอยู่ร่วมกัน รวมถึงความอดทนอดกลั้นของทุกคน” จากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ได้ทรงสรุปว่า พระองค์ไม่ทรงสงสัยใน “วิสัยทัศน์ความเฉียบแหลมด้านการบริหาร” ของนายทรัมป์ หรือ “ความมุ่งมั่นต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค” หรือ “การตัดสินใจอันแน่วแน่ที่จะส่งเสริมการฟื้นกระบวนการสันติภาพ และหลีกเลี่ยงทุกปัจจัยที่เป็นอุปสรรคขัดขวางหรืออาจทำให้กระบวนการดังกล่าวมีอันต้องยุติ”

ที่มา: LaPresse