KTAM มั่นใจเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 61 โต 4.5% เน้นลงทุนหุ้นรับประโยชน์อุปโภคบริโภค-โครงสร้างพื้นฐาน
ดร.สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน และลูกค้าสัมพันธ์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า จากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่อาจชะลอลงเล็กน้อยจากความขัดแย้งเกี่ยวกับประเด็นการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มการฟื้นตัวได้แข็งแกร่งจากแรงสนับสนุนของอุปสงค์ในประเทศและแรงกระตุ้นด้านการคลัง ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้ว่าจะมีปัญหาการเมืองเข้ามากดดันเป็นระยะๆ
นอกจากนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังอาจได้รับแรงหนุนจากการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หลังจากชะลอการลงทุนจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันตกต่ำ และการทำข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตในช่วงที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้หากไม่มีการกลับมาลงทุนอาจทำให้ปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการอุปโภคในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกีดกันทางการค้าโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากประเทศที่ขัดแย้งกันสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ อาจทำให้การค้าโลกกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเที่ยบกับครึ่งแรกของปี แต่ในภาพรวมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ถึง 4.5% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการท่องเที่ยว แนวโน้มขยายตัวของการลงทุนหลังพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ รวมทั้งการบริโภคที่อาจปรับตัวดีขึ้นตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าเกษตรบางประเภท
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ โดยรวมอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นขาขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าอาจจะชะลอลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังจากปัจจัยทางเทคนิค ขณะที่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงทรงตัวที่ระดับ 1.50 % ต่อปีไปจนสิ้นปีนี้ ก่อนที่จะขยับขึ้นในช่วงต้นของปี 2562 หลังจากภาพเศรษกิจไทยมีฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าคาด กนง. ก็อาจตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ปลายปีนี้ก็เป็นได้
ด้านนางแสงจันทร์ลี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ การลงทุนในตราสารทุน สายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยคือความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาต่อจีนและประเทศอื่นๆ ว่าจะพัฒนารุนแรงขึ้นจนกระทบต่อปริมาณการค้าโลก สภาวะการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใด ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่ระดับสูง และผลกระทบทางอ้อมต่อราคาสินค้าจากมาตราการกีดกันการค้า อาจส่งผลกระทบต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีผลต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์กระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้าย และสร้างความผันผวนต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยช่วงไตรมาสแรกมีการเติบโตที่ดีขึ้น ทำให้คาดว่าผลประกอบการของตลาดโดยรวมทั้งปีน่าจะเติบโตได้มากกว่า 10%ประกอบกับสภาพคล่องทางการเงินส่วนเกินในระบบของไทยยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่เริ่มเข้าสู่ความเข้มงวดในเรื่องมาตรการทางการเงิน ทำให้คาดว่าสิ้นปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะกลับมายืนที่ระดับสูงสุดที่ 1,840 จุดได้ หากปัจจัยภายนอกที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง ดังนั้นกลยุทธ์ในการเลือกการลงทุนของบลจ.กรุงไทยจะเน้นหลักทรัพย์ในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนในโครงสร้างฟื้นฐานของประเทศ และเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และสำคัญสุดคือราคาที่เหมาะสมกับมูลค่าปัจจัยพื้นฐาน
นายกฤษณ์ ณ สงขลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายลงทุนตราสารหนี้ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย กล่าวว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังปี 2561 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกตามแนวโน้มการลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี คาดว่าการปรับเพิ่มดังกล่าวน่าจะน้อยกว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่อัตราผลตอบแทนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีการขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี ทำให้นักลงทุนมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในจำนวนครั้งที่มากกว่าที่ได้เคยคาดการณ์ไว้เดิม รวมถึงมีปัจจัยด้านเงินเฟ้อซึ่งเร่งตัวขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมัน
ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่าน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรต่างประเทศเนื่องจากไทยยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินส่วนเกินเหลืออยู่ในระบบจำนวนมาก นอกจากนี้ปริมาณตราสารหนี้ออกใหม่ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการลงทุน และที่สำคัญประเมินว่ากนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50 %ต่อปี ตลอดปี 2561 นี้
……………………………………..