1

KSAM ปลื้ม AUM เติบโตสูงโดยเฉพาะกองทุน LTF- RMF เงินลงทุนไหลเข้าสูงสุดในอุตสาหกรรม ตอกย้ำความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการกองทุนรวมระยะยาว

นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (บลจ.กรุงศรี)เปิดเผยว่า “การดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรก 2556 มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) เพิ่มสูงขึ้นถึง 13%  จากสิ้นปี 2555 และมีจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 17% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่บริษัทได้รับจากผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

“ในส่วนของกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนหุ้น  มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกองทุนรวมเพิ่มสูงขึ้นถึง 18% ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 6%  กองทุน LTF และ RMF ของ บลจ.กรุงศรี มีเงินเข้ามาลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม   มีอัตราการเติบโตประมาณ 17%  โดยมีเงินเข้ามาลงทุนในกองทุน LTF ประมาณ 1,690 ล้านบาท และลงทุนในกองทุน RMF ประมาณ 1,045 ล้านบาท   กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผล(KFLTFDIV) และกองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผลเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDIVRMF)   ถือเป็นกองทุนดาวเด่นและมีผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในส่วนของการเปิดบัญชีใหม่และการโอนย้ายเงินลงทุนมาจาก บลจ.อื่น   เนื่องจากกองทุนทั้งสองกองทุนสร้างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีได้สูงสุดในกลุ่มกองทุนรวมหุ้นระยะยาว และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพทั้งหมดในประเทศไทย”

“กองทุนหุ้นมีอัตราการเติบโตสูงถึง 36%  โดยเฉพาะกองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผล (KFSDIV) ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นและมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่จัดตั้งกองทุน   สำหรับกองทุนตราสารหนี้มีอัตราการเติบโต 15%  กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเพิ่มทรัพย์ (KFSPLUS) ถือเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ได้รับความนิยมสูงมาก โดยกองทุนเติบโตขึ้นกว่า 8,500 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2556”นอกจากนี้ ในส่วนของกองทุนส่วนบุคคลมีอัตราเติบโต 6%  และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีอัตราเติบโตที่ 4%”

บริษัทมุ่งมั่นบริหารจัดการกองทุนภายใต้การบริหารให้มีผลการดำเนินการที่ดีอย่างต่อเนื่อง    โดยกลยุทธ์สำคัญคือการวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลของหุ้นแต่ละตัว คัดสรรหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมั่นคง มีกำไรต่อเนื่อง มากกว่าที่จะมองภาพรวมของภาวะตลาดที่มีความผันผวน บวกกับการตัดสินใจที่ฉับไวทันกับสถานการณ์  เน้นให้กองทุนสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน มากกว่าขึ้นลงหวือหวาตามตลาด “บริษัทมักจะแนะนำ        ผู้ลงทุนให้กำหนดเป้าหมายการลงทุนระยะยาวให้ชัดเจน และจัดพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ หลีกเลี่ยงการลงทุนแบบซื้อขายตลอดเวลาตามการขึ้นลงของตลาด เพื่อพยายามจะทำกำไรสูงสุด เพราะยิ่งซื้อขายบ่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะซื้อขายผิดจังหวะและขาดทุนสูงในที่สุด” นายฉัตรพี กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2556 มุ่งเสนอกองทุนที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับสภาวะตลาดเพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุน   โดยมีแผนที่จะออกองทุนใหม่ทั้งในส่วนของกองทุนผสม  และกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ  นอกจากนี้ บริษัทยังคงมีการเสนอขายกองทุนตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์  และมุ่งสร้างผลตอบแทนในกลุ่มของกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นให้มีผลตอบแทนที่โดดเด่น  โดยยังคงความเสี่ยงในระดับต่ำ

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์  ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า “ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าบรรยากาศการลงทุนน่าจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มมีเสถียรภาพมากขึ้น  ในขณะที่ความกังวลเรื่องการยกเลิกมาตรการ QE ของสหรัฐฯ การไหลออกของเงินทุน ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่อาจจะไม่แสดงการขยายตัวมากนัก จะเป็นปัจจัยที่รบกวนตลาดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้บริษัทฯคาดว่าจะขยายตัวราว 3.5% เป็นการปรับลดลงจากคาดการณ์เมื่อต้นปีที่คาดว่าจะขยายตัวราว 7%  เนื่องจากในช่วงต้นปีทางบริษัทคาดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับเงินเดือนปริญญาตรี การรับจำนำข้าว และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวในอัตราที่สูง แต่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ และภาระหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง

สาเหตุที่บริษัทคาดการณ์อัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าประมาณการของสภาพัฒน์ เนื่องจากบริษัทมองว่าเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 นี้ ยังคงฟื้นตัวในระดับต่ำ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนและจีนยังคงอ่อนแอ โดยไทยส่งออกไปยังอาเซียนและจีนราว 37% ของยอดส่งออกทั้งหมด ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปอาจไม่ส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวมากนัก  และคาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มสูงขึ้น  ในส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะถูกผลกระทบจากฐานสูงในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่ขยายตัวสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการรถคันแรก  บริษัทคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัวลงจนกว่าผู้ลงทุนจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม บริษัทเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริง เป็นเพียงการชะลอตัวหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้านี้  การที่เศรษฐกิจในไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปีนี้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค มีสาเหตุจากการที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วขยายตัวในอัตราที่สูงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงชะลอตัวลงในไตรมาสแรกของปีนี้ และเป็นปกติที่เศรษฐกิจในไตรมาสสองของทุกปีมักจะขยายตัวต่ำกว่าในไตรมาสแรก เนื่องจากมีวันหยุดหลายวัน

สำหรับปัจจัยที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่ยังคงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ การที่ผู้ผลิตรถยนต์กลับมาเน้นผลิตเพื่อการส่งออก หลังจากที่เน้นผลิตเพื่อส่งลูกค้าในประเทศในช่วง 2 ไตรมาสแรก อาจส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกดีกว่าที่ทางบริษัทฯคาด และหากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออก และส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าเกษตร รวมถึงการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นในช่วงครึ่งปีแรกสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2556 กองทุนภายใต้การบริหารยังคงมีผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีฯ โดยพอร์ตการลงทุนแบบเน้นหุ้นปันผล (Dividend model) ให้ผลตอบแทนประมาณ 10% มากกว่าดัชนีฯที่เติบโต 4.31% สาเหตุหลักมาจากการให้น้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งให้ผลตอบแทนที่มากกว่าดัชนีฯ  และพอร์ตการลงทุนแบบเน้นหุ้นเติบโต (Growth model) ให้ผลตอบแทนประมาณ 16% มากกว่าดัชนีฯที่เติบโต 4.31% ปัจจัยบวกมาจากการลงทุนในหลักทรัพย์หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดัชนีฯ” นายประภาส กล่าว

ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม  มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในอนาคต

การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล โดยเฉพาะนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และคู่มือภาษีให้เข้าใจก่อนการตัดสินใจลงทุน