แคสเปอร์สกี้ แลป อัพเดทข้อมูล “Kaspersky Cybersecurity Index” ดัชนีชี้วัดความปลอดภัยไซเบอร์ที่ใช้ประเมินระดับความเสี่ยงของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ตัวเลขดัชนีล่าสุดของครึ่งปีหลังของปี 2016 แสดงให้เห็นแนวโน้มเชิงบวก นั่นคือ จำนวนผู้ใช้ที่ตระหนักเรื่องความปลอดภัยสูงขึ้น และมีความพร้อมในการปกป้องตนจากภัยไซเบอร์สูงขึ้นเช่นกัน
ดัชนี Kaspersky Cybersecurity Index แสดงข้อมูลจากการสำรวจผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกปีละสองครั้ง ข้อมูลที่ได้จากค้นคว้าวิจัยแสดงประชากรออนไลน์ตามกลุ่มอายุและเพศของแต่ละประเทศ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 ที่ผ่านมา มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 17,377 คน จาก 28 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
นางสาวซิลเวีย อึง ผู้จัดการทั่วไป แคสเปอร์สกี้ แลป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ตัวเลขจากดัชนี Kaspersky Cybersecurity Index ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2016 แสดงข้อมูลด้านบวก ซึ่งเราอยากให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ แคสเปอร์สกี้ แลป พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของภัยคุกคามไซเบอร์และวิธีการป้องกันหรือรับมือ เราเชื่อว่า การเสริมสร้างความรู้ที่ถูกต้องเรื่องภัยคุกคามแก่ผู้อ่านและผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรวมถึงข้อมูลเกร็ดความรู้และเครื่องมือป้องกัน จะช่วยสร้างโลกไซเบอร์ที่ปลอดภัยได้ Kaspersky Cybersecurity Index เป็นเพียงขั้นหนึ่งของเราเพื่อให้เป้าหมายนี้สำเร็จ”
ดัชนี Kaspersky Cybersecurity Index มีตัวชี้วัดหลัก 3 ส่วนเพื่อแสดงภาพรวมของระดับขั้นความอันตรายของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ดังนี้
• Unconcerned – ไม่ตระหนัก – แสดงจำนวนผู้ใช้ที่ไม่เชื่อว่าตนเองตกเป็นเป้าการโจมตีทางไซเบอร์ได้
• Unprotected – ไม่ป้องกัน – แสดงจำนวนผู้ใช้ที่ไม่ติดตั้งโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยบนคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน
• Affected – ได้รับผลกระทบ – แสดงจำนวนผู้ใช้ที่ตกเป็นเหยื่อภัยคุกคามทางไซเบอร์
จากผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยจำนวน 511 คน พบว่า ตัวเลขดัชนีชี้วัดความปลอดภัยไซเบอร์ของคนไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 คือ 67-31-46 นั่นคือ ผู้ใช้ 67% ไม่เชื่อว่าตนเองตกเป็นเป้าการโจมตีทางไซเบอร์ได้ ผู้ใช้ 31% ไม่ติดตั้งโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยบนอุปกรณ์เชื่อมต่อ และมีผู้ใช้จำนวน 46% ที่ตกเป็นเหยื่อภัยคุกคามทางไซเบอร์แล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขดัชนีระดับโลก คือ 74-39-29 ทำให้แสดงว่า ผู้ใช้งานคนไทยมีความตะหนักถึงภัยมากกว่า ป้องกันตัวเองมากกว่า แต่มีจำนวนเหยื่อไซเบอร์ที่สูงกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยตกเป็นเหยื่อไซเบอร์น้อยที่สุดเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ 46% โดยมาเลเซียมีเหยื่อไซเบอร์น้อยที่สุดอันดับหนึ่ง (42%) ฟิลิปปินส์อันดับสาม (52%) ตามมาด้วยอินโดนีเซียและเวียดนาม (58% and 59% ตามลำดับ)
ผู้ใช้งานสามารถดูข้อมูลสถิติความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมไซเบอร์ได้จากดัชนีชี้วัดความปลอดภัยไซเบอร์นี้ และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลผู้ใช้แต่ละกลุ่มได้ ยกตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบการใช้งานสมาร์ทโฟนระหว่างวัยรุ่นของประเทศไทยกับผู้สูงอายุในประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
นายไพรัตน์ เติมศักดิ์มิตรชัย ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านเทคนิคก่อนการขายประจำประเทศไทย แคสเปอร์สกี้ แลป กล่าวว่า “เราได้สร้างดัชนีตัวชี้วัดเพื่อดึงความสนใจของผู้ใช้งาน สื่อมวลชน และเวนเดอร์มายังประเด็นเรื่องของความปลอดภัยไซเบอร์ ในวิถีชีวิตแบบดิจิทัลในปัจจุบัน ผู้ใช้งานหลายคนไม่คาดว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่อภัยคุกคามไซเบอร์ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตั้งโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยบนดีไวซ์ และไม่ระมัดระวังขณะออนไลน์แต่อย่างใด จึงทำให้กลายมาเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ ตัวดัชนีนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยจำนวน 46% โดนภัยคุกคามออนไลน์ เราจึงขอเรียกร้องเชิญชวนให้ทุกคนหันมาสนใจ ให้ความสำคัญในการพัฒนายกระดับความรู้เท่าทันด้านไซเบอร์กันบ้าง และใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง และของบุคคลผู้เป็นที่รักของเรา ระบบความปลอดภัยนั้นเราเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เราทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน”
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสถิติอื่นที่น่าสนใจเพื่อช่วยประเมินสถานะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต เช่น ‘กิจกรรมออนไลน์’ (Online Activity) ซึ่งแสดงประเภทของกิจกรรมที่ผู้คนนิยมทำขณะออนไลน์ หรือ ‘ภัยคุกคามไซเบอร์ที่ประสบ’ (Cyberthreats Faced) ซึ่งแสดงประเภทของภัยคุกคามที่ผู้ใช้พบเจอ โดยข้อมูลทั้งหมดแสดงในรูปกราฟเพื่อให้เข้าใจง่าย
ท่านสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องดัชนีชี้วัดความปลอดภัยไซเบอร์จาก Kaspersky Cybersecurity Index และศึกษาพฤติกรรมออนไลน์ของผู้ใช้ในแต่ละประเทศ แต่ละเพศ แต่ละวัย ได้ที่ http://index.kaspersky.com