JMT ส่งซิก ผลงาน Q2/57 สุดแจ่ม หลังตัดต้นทุนหนี้ก้อนโตก้อนแรกหมดแล้ว

0
303
image_pdfimage_printPrint

JMT ส่งสัญญาณแจ่ม หลังเร่งตัดต้นทุนหนี้ก้อนโตก้อนแรกเสร็จสิ้น เปลี่ยนมารับรู้รายได้เต็มจำนวนทั้ง 100% เรียบร้อยแล้ว  คาด สนับสนุนผลงาน ไตรมาส 2/57 และครึ่งปีแรกสวย  “ปิยะ พงษ์อัชฌา” แม่ทัพใหญ่ ระบุ  JMT เดินหน้าเลือกซื้อหนี้เสียเข้าพอร์ตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง  หนุนภาพรวมทั้งปีเติบโตโดดเด่น ส่วนเป้าหมายกำไรสุทธิทั้งปีคาดจะเติบโตสูง แม้ผลงานไตรมาส 1/57 ลดลง จากการรับรู้รายได้หนี้เสียลดลง และเร่งตัดต้นทุนหนี้ก้อนโตเพิ่มขึ้น

JMT_คุณปิยะ พงษ์อัชฌา

 

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพระดับแนวหน้าของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เร่งตัดต้นทุนหนี้ก้อนใหญ่ก้อนแรกเสร็จสิ้นแล้วในไตรมาส 1/2557 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2557 นี้เป็นต้นไป บริษัทฯ จะสามารถรับรู้รายได้ในหนี้ก้อนดังกล่าวเต็มจำนวนทั้ง 100% สนับสนุนผลงานบริษัทฯ ในช่วงต่อจากนี้ให้เติบโตอย่างโดดเด่น

นอกจากนี้ บริษัทฯ เดินหน้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้าพอร์ตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มอีก 13,000 ล้านบาท เป็น 43,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2556 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่ 31,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามนั้น เนื่องจาก สถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาเจรจาขายหนี้ด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างรอข้อสรุปในการซื้อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มเติมอีก คาดว่าจะได้ข้อสรุปการซื้อหนี้เพิ่มเติมในไตรมาส 2/2557 นี้ ซึ่งส่วนใหญ่หนี้ที่ซื้อมาบริหารในช่วงนี้ เป็นหนี้ประเภทสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์  เชื่อ จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะสนับสนุนกำไรสุทธิทั้งปี 2557 ที่คาดว่าจะเติบโตสูง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 ที่ 75.08 ล้านบาทได้สำเร็จ

“ภาพรวมตลาดสินเชื่อในปี 2557 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น จากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว  ประชาชนรายได้ต่ำลง ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ขายหนี้เสียออกมาเพิ่มขึ้น  และเริ่มนำหนี้กลุ่มอื่นๆ ออกมาขายเพิ่มเติม เช่น หนี้กลุ่ม SME จากเดิมหนี้ที่นำออกมาขายส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และ หนี้สินเชื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ ทำให้ JMT มีโอกาสเลือกซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้มากขึ้นเช่นกัน อีกทั้ง บริษัทฯ ก็มีนโยบายการเลือกซื้อหนี้เสียที่ได้คุณภาพนำมาบริหาร ซึ่งจะสนับสนุนอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ” นายปิยะ กล่าว

 

 

 

นายปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ผลงานในไตรมาส 1/2557 ที่ออกมาปรับลดลง แต่ถือเป็นการปรับลดทางบัญชีจากการที่บริษัทฯ เร่งตัดต้นทุนหนี้ก้อนใหญ่ให้เสร็จสิ้น ตามที่เคยแจ้งต่อนักลงทุนและผู้ถือหุ้นในช่วง
ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ตัดต้นทุนหนี้ก้อนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และคาดว่า จะสนับสนุนให้ผลงานในไตรมาส 2/2557 และครึ่งปีแรกนี้เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์เจ จำกัด หรือ JAM ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการหนี้สินที่ดำเนินการทางกฎหมายแล้ว อยู่ระหว่างรอข้อสรุปดีลการซื้อหนี้เข้ามาบริหารและบริษัท เจเอ็มที
อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ จำกัด หรือ JMTIB ธุรกิจนายหน้าประกันภัย ซึ่งปัจจุบันมีบันทึกข้อตกลงกับบริษัทประกันภัยที่ทำสัญญากับลูกค้ารายย่อยแล้ว 7 รายได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, บมจ.วิริยะประกันภัย, บมจ.แอลเอ็มจี ประกันภัย, บมจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย), บมจ.เมืองไทยประกันภัย, บมจ. เคเอสเค ประกันภัย (ประเทศไทย), บมจ.ทิพยประกันภัย ตั้งเป้าปีนี้จะมีรายได้จากธุรกิจนี้ประมาณ 20 ล้านบาท จากการเริ่มขายประกันภัยบุคคลผ่านช่องทางร้านเจมาร์ทราว 70 สาขา ภายในกรุงเทพและปริมณฑลเรียบร้อยแล้วพร้อม เดินหน้า ขยายธุรกิจนายหน้าประกันภัยผ่านร้านเจมาร์ท ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องอีกราว 70 สาขา  สนับสนุนผลงานทั้งปี JMT จะเติบโตขึ้นอย่างมาก ส่วนการรุกตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลทั่วไป (Micro Finance) ในประเทศพม่า โดยจะเริ่มการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวผ่านร้านเจมาร์ท ซึ่งไปเปิดสาขาในพม่าเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในธุรกิจนี้ช่วงปลายปี 2557 เป็นก้าวแรกเพื่อรุกตลาดอาเซียนในอนาคต

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย สำหรับไตรมาส 1/2557 ( สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2557) โดย งบการเงินรวมมีผลกำไรสำหรับงวด 16.61 ล้านบาท  เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีผลกำไรสำหรับงวด 27.47 ล้านบาท ลดลง 10.86  ล้านบาท  หรืออัตราร้อยละ 39.54 สำหรับรายได้อยู่ที่ 88.25  ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 93.51 ล้านบาท  ลดลง 5.26 ล้านบาท หรือลดลงในอัตราร้อยละ 5.63 เนื่องจาก บริษัทฯ มีรายได้จากการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพลดลงจาก 66.66 ล้านบาท เป็น 63.80 ล้านบาท หรือลดลง 2.86 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.29 จากการตัดเงินลงทุนในลูกหนี้มากขึ้น ส่งผลกระทบทำให้การรับรู้รายได้ลดลง  ส่วนรายได้จากการติดตามหนี้สิ้น ลดลงจาก 23.98 ล้านบาท เป็น  22.58 ล้านบาท หรือลดลง 1.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.83 เนื่องจากอัตราค่าบริการติดตามหนี้โดยเฉลี่ยลดลงและรายได้ดอกผลตามสัญญาเช่าซื้อลดลงจาก 2.88 ล้านบาท เป็น 1.87 ล้านบาท หรือลดลง 1.01  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.95 จากการหยุดให้สินเชื่อ