ICT SILPAKORN เปิดสอน 3 สาขาวิชารองรับภาคอุตสาหกรรม
ICT SILPAKORN เปิดสอน 3 สาขาวิชารองรับภาคอุตสาหกรรม เผยจุดเด่นเป็นหลักสูตรผสมทั้งศาสตร์ด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT SILPAKORN) แนะนำ 3 สาขาวิชาเด่น สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ และสาขานิเทศศาสตร์ ย้ำเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานศาสตร์ทางศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยได้รับความไว้วางใจในการผลิตบุคลากรป้อนธุรกิจดิจิทัลและการสื่อสารทั้งในและต่างประเทศ
ผศ. ณัฐพร กาญจนภูมิ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT SILPAKORN) เปิดเผยถึงหลักสูตรการเรียนการสอนว่า คณะ ICT SILPAKORN ได้นำเอาศาสตร์ทางศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมีความเชี่ยวชาญผสมผสานกับศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเปิดสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 ใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ 1.สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล เป็นการผสมผสานศาสตร์ทางการบริหารจัดการกับศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 2.สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ ซึ่งนำเอาศาสตร์ทางศิลปะมาผสมผสานกับ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งแบ่งเป็น 3 วิชาเอกคือ การออกแบบแอนิเมชั่น การออกแบบเว็บและสื่อโต้ตอบ และการออกแบบเกม 3. สาขานิเทศศาสตร์ ซึ่งได้นำเอาศาสตร์ทางด้านนิเทศศาสตร์มาผสานกับศิลปะและเทคโนโลยี มี 3 วิชาเอก ได้แก่ เอกการสื่อสารธุรกิจ การสื่อสารมวลชน และภาพยนตร์
สำหรับจุดเด่นของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือการบูรณาการทั้ง 3 สาขาเข้ามารวมกัน กล่าวคือ ผู้ที่เรียนสาขานิเทศศาสตร์ก็จะมีความรู้เรื่องธุรกิจและสามารถวาดรูปได้ รวมทั้งผู้ที่เรียนทางด้านการออกแบบจะรู้เรื่องธุรกิจเพื่อสื่อสารในเชิงธุรกิจได้ ส่วนผู้ที่เรียนทางด้านแอนิเมชั่น เว็บไซต์และสื่อโต้ตอบและเกม จะสามารถเขียนโปรแกรมมิ่ง เพื่อสร้างTool เสริม ในโปรแกรมซอฟแวร์ที่ใช้งาน ทำให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะหลักสูตรมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างบัณฑิตไม่ใช่เป็นแค่ User แต่จะต้องเป็นนักพัฒนาด้วย จึงเน้นสอนให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะและสามารถเขียนโปรแกรมได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ICT SILPAKORN ไม่ได้เน้นสอนการใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมเท่านั้น แต่จะเน้นการสอนพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับนักศึกษาเพื่อนำความรู้ไปต่อยอดในการทำงานได้ ดังนั้น นักศึกษาที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางด้านศิลปะเลยก็สามารถเรียนหลักสูตรนี้ได้ ตัวอย่างเช่น การวาดรูป จะสอนตั้งแต่การเหลาดินสอเลยทีเดียว การสอนตั้งแต่พื้นฐานเลยจะช่วยให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ถูกฝึกให้มีความชำนาญได้
“ในปีแรกจะเป็นการเรียนพื้นฐานทางด้านวิชาการให้กว้าง ทุกหลักสูตรนักศึกษาจะได้รู้พื้นฐานเหมือนกันหมด พอขึ้นชั้นปีที่สูงขึ้นจะเริ่มเรียนวิชาเฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งหลักสูตรหรือแนวทางการเรียนทางคณะจะถามภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการว่าเขาต้องการคนแบบไหน ที่ผ่านมาผลตอบรับจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่รับนักศึกษาไปทำงานได้ผลลัพธ์ออกมาดีและได้รับการชื่นชม ตลอดเวลา 15 ปีที่เปิดสอนคณะนี้มาพบกว่ามีลูกศิษย์ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก เนื่องจากตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการบุคลากรที่จบในสาขาต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในสาขาการออกแบบแอนิเมชัน มีการเติบโตสูงและได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมในต่างประเทศ เพราะเป็นงานโปรดักชั่นค่อนข้างใหญ่จึงต้องใช้บุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก” ผศ.ณัฐพรกล่าวและเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพบว่ามีผู้ที่ต้องการเรียนในสาขาที่ทางคณะเปิดสอนเพิ่มขึ้น เพราะเด็กเริ่มรู้ทางว่าต้องมาเรียนทางนี้เพื่ออะไร เช่น ถ้าต้องการสร้างและพัฒนาเกมต้องมาที่นี่ หรือถ้าอยากเรียนรู้ด้านอีสปอร์ตจะต้องไปเรียนที่ไหน เพราะเป้าหมายของแต่ละหลักสูตรจะไม่เหมือนกัน
ผศ.ณัฐพร ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลือกสาขาที่จะเรียนว่า นักศึกษาจะต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไรก่อน บางคนอาจรู้ชอบทำภาพยนตร์หรือชอบทำแอนิเมชั่น แต่เขาอาจจะยังไม่รู้ว่าในงานแอนิเมชั่น หรืองานภาพยนตร์นั้นยังมีรายะเอียดย่อยๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ หากน้อง ๆ นักเรียนหรือบุคคลทั่วไปมีความสนใจและต้องการรู้จักคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากรมากขึ้น สามารถเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 15 ปี ICT SILPAKORN ในวันนี้จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.00-19.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในงานพบกับนิทรรศการหลักสูตร ของคณะ ICT SILPAKORN ผลงานของนักศึกษาและคณะฯ พบกับพี่ๆ ICT SILPAKORN พบปะพูดคุยและเผยเคล็ดลับ Admission ให้ติดคณะ ICT SILPAKORN พร้อมกิจกรรมพูดคุยกับรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จและทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง งานนี้ขอแนะนำสำหรับเด็กมัธยมที่สนใจทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นนิเทศศาสตร์ ออกแบบ แอนิเมชั่น เว็บและสื่อโต้ตอบ เกม หรือธุรกิจดิจิทัล และผู้ปกครองที่มีลูกและสนใจงานทางด้านนี้เข้ามาชมงานนี้จะดีมาก เพราะจะได้รู้ว่าลูกของตัวเองถ้าสนใจด้านนี้ เขาต้องเรียนอะไรบ้าง เขาต้องทำอะไร และสามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี หมู่ 3 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 โทรศัพท์ 0 3 259 4033 หรือ ชั้น 8 อาคาร กสท.โทรคมนาคม ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กทม. 10500 โทรศัพท์/โทรสาร: 0-223-34995-7 เว็บไซต์ http://www.ict.su.ac.th และเฟสบุ๊ค ictsilpakorn
สื่อมวลชนสอบถามได้ที่ :
คุณมนัสวิน 091-549-3542 คุณปัญญา 087-055-2756 คุณเตชินี 061-991-6154 คุณวรินทร 0-2391-3320