IAEA ผนึกกำลัง ปส. เฝ้าระวังภัยทางรังสีแบบออนไลน์ ทั่วภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ชี้เพื่อป้องกันความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency, IAEA) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เน้นเสริมศักยภาพการตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในสิ่งแวดล้อม ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันผลกระทบทางรังสีที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประชาชน
วันนี้ (7 พฤษภาคม 2561) เวลา 09.30 น. นางรัชดา เหมปฐวี รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Regional Workshop on Online Environmental Monitoring System ณ ห้องประชุมพลาซ่า 2 โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อเรียนรู้หลักการในการเลือกสถานที่ตั้งของระบบตรวจวัดระดับรังสีแกมมาแบบออนไลน์ แลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคในการติดตั้งระบบตรวจวัดระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรของ ปส. ในการพัฒนาระบบตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในสิ่งแวดล้อมแบบออนไลน์แก่บุคลากรจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 7 – 11 พฤษภาคม 2561โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก IAEA จำนวน 2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญจาก ปส. จำนวน 4 ท่าน เป็นวิทยากรร่วมถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติในการจัดทำระบบตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในสิ่งแวดล้อมแบบออนไลน์ รวมไปถึงการบริหารจัดการข้อมูลการตรวจวัด ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการจากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มีความพร้อมในเรื่องระบบตรวจวัดระดับรังสีแกมมาแบบออนไลน์ จำนวน 21 คน จาก 15 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน บังคลาเทศ กัมพูชา จีน อิหร่าน จอร์แดน เลบานอน มาเลเซีย มองโกเลีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ ศรีลังกา อาหรับเอมิเรตส์ และไทย
นางรัชดา กล่าวต่อไปว่า โครงการ Strengthening Public and Environmental Radiological Protection in the Asia-Pacific Region (RAS9078) เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระดับภูมิภาค ที่ ปส. เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการประสานความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งนับเป็นโอกาสดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการแสดงศักยภาพ ความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาระบบเฝ้าระวังระดับรังสีแกมมาในสิ่งแวดล้อมแบบออนไลน์ และด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับรังสีแกมมาในสิ่งแวดล้อมกับระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังภัยทางรังสีระว่างประเทศ (International Radiation Monitoring Information System; IRMIS) ของ IAEA สำหรับใช้เป็นข้อมูลระดับรังสีพื้นฐานของแต่ละประเทศในสถานการณ์ปกติ และใช้เป็นค่าอ้างอิงในกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลให้การป้องกันอันตรายจากรังสีที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ