ฮันโนเวอร์และเบอร์ลิน, เยอรมนี–23 ก.ย.–พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนีเผย “แนวคิดใหม่ๆกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวหน้า”
คุณแมทเทียส วิสส์แมนน์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี (VDA) กล่าวต่อบรรดาแขกผู้ทรงเกียรติจากแวดวงการเมืองและธุรกิจกว่า 700 ท่าน ระหว่างพิธีเปิดมหกรรม IAA Commercial Vehicles ครั้งที่ 66 ณ เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนีว่า “เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งบริษัททั้งหลายเข้ามาเป็นผู้กำหนดทิศทาง และในมหกรรม IAA Commercial Vehicles ได้มีการจัดแสดงยานยนต์และเทคโนโลยีกว่า 330 รายการที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลก และอีกกว่า 100 รายการที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกของยุโรป จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดใหม่ๆกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวหน้า ผู้มาเยี่ยมชมงานจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับนวัตกรรมใหม่ๆในชีวิตประจำวัน ด้วยจำนวนผู้จัดแสดงสินค้ากว่า 2,000 รายจากกว่า 50 ประเทศ ส่งผลให้มหกรรมยานยนต์ การขนส่ง และโลจิสติกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกงานนี้ มีความเป็นสากลยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา” ทั้งนี้ คุณวิสส์แมนน์เป็นประธานเปิดงานนี้ร่วมกับสเตฟาน วีล ผู้ว่าการรัฐโลว์เออร์แซกโซนี และกึนเทอร์ ออตติงเกอร์ กรรมาธิการยุโรปฝ่ายสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกัน อเล็กซานเดอร์ โดบรินดท์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จะมาร่วมมหกรรมนี้ทันทีหลังเสร็จสิ้นการแถลงแผนงานโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมต่อรัฐสภาเยอรมนี
คุณวิสส์แมนน์กล่าวย้ำว่า “มหกรรม IAA คือจุดตัดของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่ยานยนต์ไปจนถึงการขนส่งและโลจิสติกส์ จากผู้ผลิตรถบรรทุก รถตู้ รถบัส และรถพ่วง ไปจนถึงบริษัทซัพพลายเออร์ขนาดกลางหลายราย นอกจากนี้ มหกรรม IAA ยังเปิดประตูต้อนรับภาคส่วนใหม่ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นต้น”
1 ใน 4 ของแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี หรือประมาณ 180,000 คนนั้น ทำงานอยู่ในภาคยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ คุณวิสส์แมนน์จึงกล่าวถึงความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่าง VDA กับสมาคมอื่นๆ รวมถึงสหภาพแรงงาน IG Metall ที่ผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มความร่วมมือ Alliance for the “Future of Industry” โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ขณะที่มหกรรม IAA ปีนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของ “Week of Industry” ที่กลุ่มความร่วมมือได้จัดขึ้นทั่วประเทศจนถึงวันที่ 25 กันยายน
คุณวิสส์แมนน์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งช่วยให้คนทั่วไปได้รับความพึงพอใจในชีวิตประจำวันในหลากหลายแง่มุม “ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ทำหน้าที่บรรทุกเบียร์ไปส่งตามร้านต่างๆ คิดเป็นปริมาณ 99 ลิตรต่อคนต่อปี ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 17 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2000 ไม่ว่าจะเป็นยอดขายรองเท้า หนังสือ หรือเสื้อผ้า ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากการส่งสินค้าถึงบ้านด้วยยานยนต์เชิงพาณิชย์ แม้แต่เด็กๆก็ได้รับประโยชน์จากยานยนต์เชิงพาณิชย์เช่นกัน เพราะในแต่ละวันมีเด็กๆขึ้นรถบัสไปกลับโรงเรียนถึง 2.7 ล้านคน และเมื่อพ้นวัยเรียนแล้ว ยานยนต์เชิงพาณิชย์ยังมีบทบาทในการขนของไปบ้านหลังใหม่ โดยในแต่ละปีมีการใช้ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนของย้ายบ้านประมาณ 2 ล้านครั้ง”
นอกจากนี้ ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังเป็น “ผู้ช่วยอันดับแรก” ในสถานการณ์อันตรายหรือเหตุฉุกเฉิน โดยรถพยาบาลและรถกู้ภัยถูกนำไปใช้งานมากกว่า 11.7 ล้านครั้งต่อปี ขณะที่รถดับเพลิงถูกนำไปใช้มากกว่า 200,000 ครั้งต่อปี
คุณวิสส์แมนน์เน้นย้ำว่า “ชีวิตที่ปราศจากยานยนต์เพื่อการพาณิชย์จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในยุคกลาง ไม่มีทั้งรถเก็บขยะ รถทำความสะอาดถนน หรือรถกวาดหิมะ เห็นได้ชัดว่าชีวิตที่ไม่มียานยนต์เพื่อการพาณิชย์นั้นลำบากและไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย”
นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงระบบความปลอดภัยขั้นสูงในยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ยุคใหม่ เช่น ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถ (ESP) ระบบแจ้งเตือนการออกนอกเลน และตัวช่วยเบรกฉุกเฉิน ซึ่งต่างกลายเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น “เราต้องการมากกว่านี้ เป้าหมายในระยะยาวคือการขับขี่อัตโนมัติปลอดอุบัติเหตุ ซึ่งกล้องมัลติฟังก์ชั่น เรดาร์ และเซ็นเซอร์อัลตร้าซาวด์สามารถช่วยได้ และนวัตกรรมเหล่านี้ได้ถูกนำมาแสดงภายในงาน เพราะการขับขี่อัตโนมัติคือหัวใจสำคัญของมหกรรม IAA ปีนี้”
อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญคือการเชื่อมต่อ โดยคุณวิสส์แมนน์อธิบายว่า “ในอนาคต ยานยนต์จะสามารถเชื่อมต่อกับระบบการจราจรได้ทั้งหมด โดยจะสามารถรายงานสถานการณ์รถติดหรือพายุที่อาจเกิดขึ้นไปยังยานยนต์คันอื่นๆได้แบบเรียลไทม์ โดยขณะนี้ได้มีการติดตั้งเซ็นเซอร์กว่า 400 ตัวบนรถกึ่งพ่วงเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ก่อเกิดเป็นไลน์ซอฟต์แวร์มากกว่า 100 ล้านไลน์ ซึ่งมากกว่าในเครื่องบินเจ็ตเสียอีก”
คุณวิสส์แมนน์กล่าวว่า การเชื่อมต่อจะทำให้การคมนาคมขนส่งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างว่า “ขบวนรถบรรทุกที่เชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์บนฟรีเวย์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และประหยัดเชื้อเพลิงได้สูงสุด 10%” นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรถบรรทุกยังช่วยลดปริมาณการตีรถเปล่าได้ ขณะที่การคำนวณระยะเวลาการเดินทางที่แม่นยำจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เวลาเคลื่อนย้ายสินค้าขึ้นรถ และผู้ขับขี่จะได้รับประโยชน์มากเป็นพิเศษ “นวัตกรรมนี้จะช่วยปลดปล่อยผู้ขับขี่จากความน่าเบื่อในการหาที่จอดรถบนฟรีเวย์ เนื่องจากรถบรรทุกที่มีการเชื่อมต่อสามารถจองที่จอดรถล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์”
เพื่อนำข้อดีของระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและข้อบังคับต่างๆให้เข้ากับนวัตกรรมที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ดังนั้น “โซลูชั่นที่ครอบคลุมทั่วทั้งยุโรป” จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งในเรื่องนี้ คุณวิสส์แมนน์ได้กล่าวขอบคุณกึนเทอร์ ออตติงเกอร์ กรรมาธิการยุโรปฝ่ายสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี “ทุกประเทศในยุโรปต้องร่วมมือกัน เราจึงจะสามารถกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลตามที่เราต้องการได้”
นอกจากนี้ยังมีความพยายามร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งสินค้า โดยคุณวิสส์แมนน์กล่าวว่า “ผู้ผลิตยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ในยุโรปมีข้อเสนอเฉพาะเจาะจงสำหรับประเด็นนี้ นั่นคือ การกำหนดแนวทางแบบบูรณาการที่ครอบคลุมร่วมกัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถบรรทุกรุ่นใหม่ให้ได้ 20% ภายในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2005 สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ร่วมแรงร่วมใจกัน และเป็นที่ประจักษ์ว่าเราให้การสนับสนุนกลไกตลาด มิใช่กฎระเบียบจากหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
คุณวิสส์แมนน์กล่าวเสริมว่า “เมื่อพูดถึงระบบส่งกำลังยานยนต์แล้ว เราจะได้เห็นสิ่งใหม่ๆในอนาคต โดยน้ำมันดีเซลจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการขนส่งทางไกลโดยรถบรรทุกหนัก แต่เทคโนโลยีฟอกไอเสียล่าสุดจะช่วยให้รถบรรทุกประหยัดน้ำมันมากขึ้นและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ปัจจุบัน รถบรรทุกและรสบัสมาตรฐาน Euro VI กำลังเป็นดาวเด่นบนท้องถนน เพราะมีการปล่อยมลพิษเพียงน้อยนิด”
ในขณะเดียวกัน ระบบส่งกำลังทางเลือกก็มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีการนำมาใช้ในรถบัสเป็นที่เรียบร้อย ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถบรรทุกด้วย นอกจากนี้ ถังเชื้อเพลิงและระบบจ่ายเชื้อเพลิงที่ดียังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการนำไปใช้ในวงกว้างด้วย
คุณวิสส์แมนน์กล่าวว่า “ยานยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะยานยนต์เพื่อการพาณิชย์สำหรับงานเบาซึ่งใช้ในการขนส่งสินค้าในเมือง เพราะเมืองใหญ่ต่างกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ที่เชื่อมต่อได้จะช่วยรับประกันว่าการขนส่งในเขตเมืองจะรวดเร็วและปลอดมลพิษยิ่งขึ้น”
คุณวิสส์แมนน์กล่าวว่า “คนที่จริงจังในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะจริงจังในเรื่องการปล่อยมลพิษของรถบรรทุกด้วยเช่นกัน” อนึ่ง การทดสอบภาคสนามในเยอรมนีให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยพบว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุด 25% ต่อการขนส่งสินค้า 1 ตัน “ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อถือและมีความสำคัญมาก เราต้องการนำเครือข่ายการขนส่งที่ผ่านการพิสูจน์แล้วมาใช้จริงในเยอรมนี และขยายการดำเนินงานออกไปในอนาคต”
ทั้งนี้ สเตฟาน ชอสต็อก นายกเทศมนตรีเมืองฮันโนเวอร์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และหลังจากนั้นได้มีการเสวนากันในหัวข้อ “Commercial vehicle 4.0: networker between markets and people” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาหลายท่าน ได้แก่ กึนเทอร์ ออตติงเกอร์ (กรรมาธิการยุโรปฝ่ายสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล) สเตฟาน วีล (ผู้ว่าการรัฐโลว์เออร์แซกโซนี) ดร.แฟรงค์ แอพเพล (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท DPDHL Group) ดร.วูล์ฟกัง เบิร์นฮาร์ด (สมาชิกคณะกรรมการบริหารบริษัท Daimler AG และประธาน Daimler Trucks & Buses) รวมถึงแอนเดรียส เรนช์เลอร์ (สมาชิกคณะกรรมการบริหารฝ่ายยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ บริษัท Volkswagen AG) และเมื่อการเสวนาเสร็จสิ้นก็ได้มีการเดินชมรอบงานอย่างเป็นทางการ
ติดต่อ:
Eckehart Rotter
German Association of the Automotive Industry (VDA)
Press Department
โทร. +49-30-897842-120
อีเมล: rotter@vda.de
ที่มา: German Association of the Automotive Industry (VDA)