Henley & Partners เผยหนังสือเดินทางประเทศแถบเอเชียยังครองหัวตารางเหนียวแน่น สะท้อนอิทธิพลในเวทีโลก

0
295
image_pdfimage_printPrint

ทุกวันนี้ เศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงขณะที่ศูนย์กลางอำนาจก็ได้เปลี่ยนที่ ส่วนอิทธิพลของภูมิภาคเอเชียก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 นี้ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ยังคงครองอันดับ 1 หนังสือเดินทางที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกจากการจัดอันดับหนังสือเดินทางที่ทรงอิทธิพลของเฮนลีย์ Henley Passport Index โดยมีคะแนน visa-free/visa-on-arrival ที่ 190 คะแนน จากคะแนนเต็ม 227 คะแนน การจัดอันดับดังกล่าวประเมินจากข้อมูลเฉพาะของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ International Air Transport Association (IATA) ซึ่งเกือบตลอด 14 ปีที่ประเมินมานั้น อันดับหนึ่งมักตกเป็นของประเทศแถบยุโรปหรือไม่ก็สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี อันดับดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2018 เมื่อประเทศแถบเอเชียได้เข้ามาชิงตำแหน่งหัวตารางทั้งในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายทั่วโลก

อันดับที่ 2 ได้แก่ฟินแลนด์ เยอรมนี และเกาหลีใต้ โดยมีคะแนน visa-free/visa-on-arrival ที่ 188 คะแนน ขณะที่เดนมาร์ก อิตาลี และลักเซมเบิร์ก อยู่ที่อันดับ 3 ด้วยคะแนน 187 คะแนน สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่อันดับ 6 ร่วม ด้วยคะแนน 184 คะแนน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของทั้ง 2 ประเทศนับตั้งแต่ปี 2010 และอันดับลดลงอย่างมากจากที่เคยครองอันดับ 1 ในปี 2014 ส่วนอัฟกานิสถานยังคงรั้งท้ายในด้านการเคลื่อนย้ายทั่วโลก โดยสามารถเข้าประเทศต่าง ๆ แบบไม่มีวีซ่าได้เพียง 25 ประเทศ

Ugur Altundal และ Omer Zarpli นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Syracuse University และมหาวิทยาลัย University of Pittsburgh ตามลำดับ ได้ศึกษาข้อมูลที่ผ่านมาจาก Henley Passport Index และ Index of Economic Freedom โดยพบว่า “ประเทศที่มีคะแนนวีซ่าสูงมักมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจสูงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่อิสระทางการลงทุน การเงิน และทางธุรกิจ”

Dr. Christian H. Kaelin ประธาน Henley & Partners กล่าวว่า “ผลการวิจัยของเราพบว่า ‘อำนาจของหนังสือเดินทาง’ เป็นมากกว่าเพียงจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือหนังสือจะเดินทางไปได้โดยไม่มีวีซ่า โดยบ่อยครั้งที่พบความสัมพันธ์อย่างแข็งแกร่งระหว่างอิสระทางวีซ่ากับผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น อิสระทางธุรกิจและการลงทุน ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ ความมั่นคงทางการคลัง และสิทธิในทรัพย์สิน”

การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ในทฤษฎีแล้วอยู่ห่างเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ขณะที่ผู้คนให้ความสนใจว่า สิ่งนี้จะมีผลต่อนโยบายอพยพเข้าออกสหราชอาณาจักรอย่างไร โดย Madeleine Sumption จากโครงการ The Migration Observatory ประจำมหาวิทยาลัย Oxford University กล่าวว่า “อนาคตของนโยบายตรวจคนเข้าเมืองในสหราชอาณาจักรไม่เหมือนกับนโยบายการค้า เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าสหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยมีข้อตกลงหรือไม่ ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม ก็จะยังมี ‘ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน’ ไปอย่างน้อยจนถึงเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งในช่วงนี้ พลเมืองยุโรปจะยังคงเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้อย่างเสรีพอ ๆ กับที่เป็นอยู่ในวันนี้ อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นแล้ว การตั้งถิ่นฐานระยะยาวน่าจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากขึ้นมาก ๆ สำหรับพลเมืองยุโรป ส่วนพลเมืองสหราชอาณาจักรที่ต้องการย้ายไปประเทศแถบยุโรปหลังจากเกิด Brexit ไปแล้ว ก็จะต้องเผชิญกับระบบตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดมากขึ้นเช่นกัน”

สำหรับประเทศที่ทำอันดับขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไต่ขึ้น 5 อันดับแตะอันดับที่ 15 โดย Lorraine Charles จากศูนย์ Centre for Business Research มหาวิทยาลัย Cambridge University กล่าวว่า “แม้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังสู้กับมหาอำนาจระดับภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบียไม่ได้ในแง่ของแสนยานุภาพทางทหารและอิทธิพลทางเศรษฐกิจ แต่อำนาจอ่อนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นยากที่จะต่อกรในแถบอ่าวอาหรับ”

ประเทศที่มีโครงการด้านการลงทุนเพื่อขอรับสัญชาติ ยังคงมีอันดับที่ดีในการจัดอันดับดัชนีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นมาตลอดที่ทำดัชนี้ดังกล่าว โดยไซปรัสไต่ขึ้นจากอันดับที่ 16 ในไตรมาสที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 14 ซึ่งชาวไซปรัสเดินทางไปจุดหมายต่าง ๆ แบบไม่มีวีซ่าได้ 173 แห่ง ส่วนมอลตาครองอันดับ 7 อย่างเหนียวแน่น ด้วยคะแนน visa-free/visa-on-arrival ที่ 183 คะแนน ขณะที่ประเทศแถบแคริบเบียนอย่างแอนติกาและบาร์บูดาไต่ขึ้นอันดับที่ 28 ด้วยคะแนน 149 หลังจากที่เดินทางเข้าประเทศรัสเซียได้