Healthcare Technology Summit 2016 รวมพลการแพทย์และสาธารณสุขไทย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ eHealth – Smart Heath เต็มสตรีม
ถึงแม้ว่าโลกดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จะมีการเจริญเติบโตและขยายตัวมากขึ้นจนกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์และสุขภาพได้ แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังพบปัญหาความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอยู่ นั่นเป็นเหตุผลให้ทุกภาคส่วนต้องระดมสมองวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกร่วมกันในงานสัมมนาวิชาการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อการบริการด้านสุขภาพ (Healthcare Technology Summit 2016) จัดโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) มุ่งหวังจะผลักดันเครื่องมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการแพทย์ ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเดินหน้าสู่การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น สอดรับกับแผนแม่บท eHealth, Health IT, Smart Heath ที่จะเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างประโยชน์ให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความเสมอภาคและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการสาธารณะ โดยเฉพาะบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่มีสุขภาวะที่ดี อีกทั้งไม่ตกเทรนด์ภาวะสาธารณสุขโลก (World Healthcare Trends)
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อการบริการด้านสุขภาพ (Healthcare Technology Summit 2016) ภายใต้แนวคิด “Transformation Healthcare through ICT : Affordable Technology for Standard, Safety and Quality” เปิดเผยว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้การบริการสาธารณสุขด้วยตนเองบนฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ พร้อมกระจายโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าถึงและเท่าเทียมกันครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังเร่งพัฒนาทั้งระบบและเพิ่มบุคลากรให้บริการควบคู่กันไปเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสุขภาพ (eHealth) อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ แผนแม่บท eHealthและ Health IT ของกระทรวงสาธารณสุข และSmart Heath โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและไปในทิศทางเดียวกันได้นั้น จำเป็นต้องผสานกำลังและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และ การแพทย์และสาธารณสุข (Health) ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่ง รศ.ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรของหน่วยงานสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพัฒนาสมรรถนะในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญที่ได้มาตรฐาน ช่วยยกระดับภาพรวมการพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและตอบโจทย์หรือยุทธศาสตร์ของประเทศได้
กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน ทั้งร่วมเข้าฟังสัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจอย่าง “Executive Keynote Speech : World Healthcare Trends? What’s Next?” ที่จะทำให้ทุกคนต้องตื่นตัวกับความท้าทายของวาระสาธารณสุขโลก พร้อมร่วมถกประเด็น “eHealth และ Digital Economy จะเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้หรือไม่” ในรูปแบบปาฐกถาพิเศษภาพรวมเชิงนโยบายและ Focus Group เพื่อเจาะลึกถึงเป้าหมายในการเดินหน้าแผนแม่บท ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการแสดงแอพพลิเคชั่นทาง Health Tech อย่าง mHealth Presenting by Healthcare Tech Startup และกิจกรรมพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในบรรยากาศ Cocktail Reception ซึ่งทุกความคิดเห็นล้วนกระตุ้นให้เกิดแนวทางสร้างสรรค์ และยังเปี่ยมล้นไปด้วยมิตรภาพระหว่างกันอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่ช่วยเปิด ‘ประตูความคิด’ ให้กับผู้เข้าร่วมงานผ่านนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการข้อมูล อาทิ ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล : PHR โดย SIPA และ NECTEC ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทดลองใช้ซอฟท์แวร์และส่งต่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปเป็น Platform ใช้ได้จริงแล้ว หรือ Binary MRIS นำเสนอระบบบริหารจัดการทรัพยากรภาพเอกสารทางการแพทย์ ต่อด้วยระบบบริหารงานภายในคลินิกของ Izpal Clinic และ @2er (anywhere 2 emergency) + ilertu ที่มีความโดดเด่นด้านระบบงานบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีระบบจัดเก็บเอกสารและระบบบริหารโรงพยาบาล จาก NEO ให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ ส่วนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ต้องยกให้ TRECON (WEBSITE) ที่ส่งระบบ SMART HEALTHCARE โมบายแอปพลิเคชั่นช่วยผู้ใส่ใจสุขภาพสามารถบันทึกข้อมูลผลการตรวจสุขภาพได้มานำเสนอ ตามด้วย Solution “HP MOBILITY SOLUTIONS FOR HEALTHCARE” เพื่อช่วยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ประกอบที่สำคัญสำหรับศูนย์ข้อมูลต่างๆ จากยูนิทรีโอ เทคโนโลยี ตลอดจนเครื่องสแกนเนอร์จากฟูจิตสึ และ Total Epson Solution for Healthcare ที่จัดแสดง Solution ต่างๆเอื้อต่อสิ่งแวดล้อมของสถานพยาบาล และเป็นการนำเสนอนวัตกรรมที่ใช้ในต่างประเทศแล้ว เป็นต้น
ตลอดสองวันของการจัดงาน หลายคนให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) ช่วยเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้จริง และการมีนโยบาย eHealth หรือ Health IT หรือ Smart Health ที่เป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงจะช่วยให้ประเทศมีโอกาสพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มคุณภาพการให้บริการดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยลดความเสี่ยง ลดความแออัด ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และช่วยให้ระบบทางการแพทย์และสาธารณสุขมีข้อมูลที่ถูกต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้