Global Terrorism Index ปี 2559 ชี้ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายในกลุ่มประเทศ OECD พุ่งถึง 650%
ลอนดอน–16 พ.ย.–พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
– ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั่วโลกลดลงเพียง 10% ในปี 2558 หลังหลายประเทศรายงานยอดผู้เสียชีวิตที่ปรับตัวสูงขึ้น จากเหตุก่อการร้ายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
– ปฏิบัติการโจมตีกลุ่ม ISIL และโบโกฮาราม ส่งผลให้ยอดผู้เสียชิวิตในอิรักและไนจีเรียลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธทั้งสองได้ขยายอิทธิพลไปยังประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียง
– ในปี 2558 มี 23 ประเทศทั่วโลกที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีเพียง 17 ประเทศ
– ประเทศสมาชิก OECD 21 ประเทศ จากทั้งหมด 34 ประเทศ ต่างเผชิญกับเหตุก่อการร้ายอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยตุรกีและฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุด
– ฝรั่งเศส ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และตูนิเซีย เป็นประเทศที่มีอัตราการก่อการร้ายเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้คะแนน GTI โดยรวมร่วงลง 6%
– การก่อการร้ายได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่าถึง 8.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558
ดัชนี Global Terrorism Index (GTI) ประจำปี 2559 เผยให้เห็นว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั่วโลกปรับตัวลง 10% แตะที่ 29,376 รายในปี 2558 หลังจากที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4 ปีติดต่อกัน
(โลโก้: http://photos.prnewswire.com/prnh/20141118/717092 )
ปฏิบัติการทางทหารเพื่อโจมตีกลุ่ม ISIL และโบโกฮาราม ได้ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในอิรักและไนจีเรียลดลง 32% ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั่วโลกลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายทั้งสองกลับแผ่อิทธิพลออกไปในประเทศอื่นๆ เป็นเหตุให้อัตราการก่อการร้ายในประเทศอื่นๆดีดตัวสูงขึ้น คะแนน GTI โดยรวมจึงปรับตัวลดลง 6%
รายงานประจำปีที่พัฒนาโดย Institute for Economics and Peace (IEP) และอ้างอิงจากฐานข้อมูลการก่อการร้ายทั่วโลกของ National Consortium for the Study of Terrorism and Responses to Terrorism (START) รวมถึงแหล่งข้อมูลอื่นๆ ได้นำเสนอแนวโน้มของการก่อการร้ายทั่วโลกอย่างครอบคลุมที่สุด โดยรายงานพบว่าในปี 2558 มี 23 ประเทศทั่วโลกที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีเพียง 17 ประเทศ ส่วนประเทศที่มีคะแนน GTI ลดลงมากที่สุดประกอบด้วย ฝรั่งเศส ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และตูนิเซีย ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการจัดอันดับเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และส่งผลให้ดัชนี GTI โดยรวมทั่วโลกร่วงลง แม้ว่าสถานการณ์ในอิรักและไนจีเรียจะดีขึ้นก็ตาม
กลุ่ม ISIL และพันธมิตรได้ปฏิบัติการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า จาก 13 ประเทศในปี 2557 เป็น 28 ประเทศในปี 2558 ซึ่งรวมถึงประเทศในยุโรปหลายประเทศ ส่งผลให้จำนวนประเทศที่ต้องเผชิญการก่อการร้ายในระดับสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นอกจากนี้ การขยายอิทธิพลของกลุ่มโบโกฮารามไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไนเจอร์ แคเมอรูน และชาด ยังทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายใน 3 ประเทศนี้พุ่งขึ้นถึง 157% นอกจากนั้นยังส่งผลให้แคเมอรูนและไนเจอร์รั้งอันดับที่ 13 และ 16 ของ GTI ตามลำดับ
Steve Killelea ประธานบริหารของ IEP กล่าวว่า “รายงาน GTI ปีนี้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนที่สุดของการก่อการร้ายในรอบ 16 ปี แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะลดลง แต่ความรุนแรงในการก่อการร้ายกลับเพิ่มขึ้นในหลายประเทศและมีการแผ่อิทธิพลไปยังประเทศอื่นๆ นับเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายยุคใหม่มีความลื่นไหลสูง เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นใจกลางเมืองของประเทศตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตยได้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับวิวัฒนาการของกลุ่มก่อการร้าย”
ในกลุ่มประเทศ OECD นั้น ISIL ได้ใช้กลยุทธ์การโจมตีแบบข้ามประเทศ นอกจากนั้นยังมีการก่อการร้ายแบบเดี่ยวที่ได้รับอิทธิพลจาก ISIL ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่ม OECD พุ่งขึ้นถึง 650% โดยประเทศสมาชิก OECD 21 ประเทศ จากทั้งหมด 34 ประเทศ ต่างเผชิญกับเหตุก่อการร้ายอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยตุรกีและฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุด นอกจากนี้ ประเทศเดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน และตุรกี ล้วนมียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 577 ราย มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม ISIL ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีกรุงปารีส กรุงบรัสเซลส์ และกรุงอังการา และถือเป็นหนึ่งในเหตุโจมตีที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านี้
Steve Killelea กล่าวว่า “โดยทั่วไปแล้ว นักรบของ ISIL ที่เป็นชาวต่างชาติและเดินทางเข้าไปในซีเรีย มักเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงแต่มีรายได้ต่ำ ขณะที่หลายคนเข้าร่วมขบวนการเพราะรู้สึกแปลกแยกจากสังคมในประเทศบ้านเกิด การทำความเข้าใจแรงขับเคลื่อนของการก่อการร้ายเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนากลยุทธ์ต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง แม้ว่าการใช้กำลังทางทหารจะสามารถจำกัดวงของกลุ่ม ISIL ในอิรักได้อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่สามารถจำกัดความนิยมชมชอบในตัวกลุ่มก่อการร้ายได้ ดังจะเห็นได้จากการก่อการร้ายในยุโรปที่มี ISIL เป็นต้นแบบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของการใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว
ในกลุ่มประเทศ OECD นั้น ปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การว่างงานของคนหนุ่มสาว ระดับอาชญากรรม การเข้าถึงอาวุธ และความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้ง นับเป็นปัจจัยหลักที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการก่อการร้าย ส่วนในประเทศกำลังพัฒนานั้น ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง การคอร์รัปชั่น และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนชั้น เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการก่อการร้ายมากที่สุด
ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้ายในปี 2558 อยู่ที่ 8.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอิรักได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็น 17% ของ GDP ปี 2558 สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย อิรัก อัฟกานิสถาน ไนจีเรีย ปากีสถาน และซีเรีย โดยทั้ง 5 ประเทศนี้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายคิดเป็น 72% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั้งหมดทั่วโลกในปี 2558 ทั้งยังเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายที่โหดเหี้ยมที่สุด 4 กลุ่ม ได้แก่ ISIL โบโกฮาราม ตาลีบัน และอัลกออิดะห์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายมากถึง 74% ของทั้งหมด โดยกลุ่ม ISIL ได้แซงหน้าโบโกฮารามในฐานะกลุ่มก่อการร้ายที่เหี้ยมโหดที่สุดในปี 2558 หลังก่อเหตุใน 252 เมือง และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 6,141 ราย
สำหรับบรรณาธิการ
สามารถรับชมรายงาน GTI ฉบับเต็ม และแผนที่แบบอินเตอร์แอคทีฟได้ที่ www.visionofhumanity.org
ติดตาม: @GlobPeaceIndex #TerrorismIndex
กดไลค์: www.facebook.com/globalpeaceindex
ที่มา: Institute for Economics and Peace