Fair Finance Asia เรียกร้องผู้นำ G20 ส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ

0
516
image_pdfimage_printPrint

ในโอกาสที่การประชุมสุมยอด G20 เปิดฉากขึ้นที่นครโอซากา วันนี้ Fair Finance Asia (เครือข่ายองค์กรประชาสังคมในภูมิภาคเอเชีย) ขอเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ

Fair Finance Asia (FFA) เรียกร้องให้ผู้นำประเทศเหล่านี้สนับสนุนแนวปฏิบัติและระเบียบข้อบังคับ ตามข้อเสนอแนะด้านนโยบาย Civil 20 (C20) ที่ทางเครือข่ายได้ยื่นต่อผู้นำ G20 เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ตลอดจนสนับสนุนการลงทุนที่มีคุณภาพในแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายยังเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ G20 ปฏิบัติตามหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) และส่งเสริมการตรวจสอบและความโปร่งใสในห่วงโช่การเงินโลก

เนื่องด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลายเป็นประเด็นสำคัญของโลก Fair Finance Asia จึงยินดีที่รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มประเทศ G20 ได้ให้การรับรองในหนังสือแถลงการณ์ประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งกำหนดให้หลักการ G20 ว่าด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ (G20 Principles of Quality Infrastructure Investment) เป็นทิศทางยุทธศาสตร์ร่วมของกลุ่ม โดย FFA ต้องการให้กลุ่มประเทศ G20 ให้คำมั่นและดำเนินการเพื่อปูทางสู่การสร้างแนวนโยบายที่กำหนดให้สถาบันการเงินยุติการสนับสนุนการจัดหาเงินทุนสำหรับธุรกิจถ่านหินในทันที

ความสามารถของญี่ปุ่นในการเป็นตัวแทนผลักดันหลักการ G20 ว่าด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น ความยั่งยืนของหนี้ การปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งขึ้นนั้น น่าชื่นชมยกย่องเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานของญี่ปุ่นนั้น กลุ่มการศึกษาการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance Study Group – SFSG) ได้ถูกยุบไป โดยก่อนหน้านี้ งานของ SFSG มุ่งเน้นไปที่การศึกษาด้านการเงินสีเขียว รวมถึงประเด็นความยั่งยืนอื่น ๆ เช่น การสร้างงาน และความเท่าเทียมกันทางรายได้ FFA จึงขอเรียกร้องให้มีการฟื้นกลุ่ม SFSG ขึ้นมาใหม่ และขอให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินและเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายในกลุ่มประเทศ G20 เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในสังคมต่าง ๆ ของเรา

Bernadette Victorio หัวหน้าโครงการประจำภูมิภาคของ Fair Finance Asia กล่าวว่า “เราตั้งตารอที่จะได้เห็นฉันทามติระดับสูงเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ องค์กรผู้มีอำนาจและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อดำเนินแผนงานและนโยบายการเงินที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างครอบคลุม เราขอเรียกร้องให้ผู้นำ G20 ส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนและการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนรวมในการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ”

Yuki Tanabe ตำแหน่ง Program Director ของ Japan Center for a Sustainable Environment and Society (JACSES) ซึ่งเป็นสมาชิกของ Fair Finance Japan กล่าวว่า “จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำ G20 จะต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน การให้การสนับสนุนเงินทุนแก่โครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มประเทศ G20 ควรมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) และกลุ่ม G20 ควรยุติการจัดหาทุนให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นก้าวแรก”

หมายเหตุสรุป: Fair Finance Asia เรียกร้องให้กลุ่มประเทศ G20 เห็นพ้องและยึดมั่นในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ C20 เพื่อรับรองว่าสถาบันการเงินทั้งหลายลงทุนเพื่อประโยชน์ของเราทุกคน ดูข้อเสนอแนะหลักได้ที่ https://medium.com/@asia.fairfinance/fair-finance-asia-calls-upon-g20-leaders-to-promote-sustainable-and-responsible-finance-786bc16c2733

Fair Finance Asia (FFA) คือเครือข่ายขององค์กรประชาสังคมที่ดำเนินงานอยู่ในเอเชีย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้สถาบันการเงินในภูมิภาคคำนึงถึงหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและการตัดสินใจลงทุน เจ็ดประเทศในภูมิภาคที่เป็นสมาชิกของ FFA ได้แก่ กัมพูชา ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

ติดต่อโฆษก FFA:

Bernadette Victorio
Regional Program Lead
Fair Finance Asia
bernadette.victorio@oxfam.org
+91-9818833021

Tweet: @FairFinanceAsia