ETDA (เอ็ตด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นนักแสดง-ผู้กำกับ นานาทัศนะต่อโซเชียลมีเดีย

0
304
image_pdfimage_printPrint

Print

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานประกาศรางวัลอันทรงเกียรติของคนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ในปีนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที ได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 25 ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลบันเทิงไทย โดยครั้งนี้ เอ็ตด้าได้ร่วมสร้างตระหนักรู้ในเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียอย่างมั่นคงปลอดภัย
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า “ในฐานะที่เอ็ตด้าดูแลและสนับสนุนการพัฒนาอีคอมเมิร์ซของประเทศ เรามองว่าอุตสาหกรรมภาพยนต์ เพลง เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอย่างมหาศาล ในการที่จะนำมาต่อยอดธุรกิจผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก
นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเอ็ตด้าถึงให้ความสนใจเข้ามาช่วยสนับสนุน ที่สำคัญเอ็ตด้ายังมองว่า ศิลปิน นักร้อง และนักแสดง คือกลุ่มคนที่มีคนชื่นชมและติดตาม เป็นไอดอลหรือต้นแบบของคนรุ่นใหม่ เราจึงอยากใช้พลังการเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ของนักแสดงและศิลปินในการเป็นต้นแบบ และรณรงค์เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่ถูกต้องและมั่นคงปลอดภัยให้กับทั้งเยาวชนและคนทั่วไป เราเชื่อในพลังของศิลปินและนักแสดงว่าน่าจะช่วยเราในส่วนนี้ได้”
นอกจากนี้ภายในงาน เอ็ตด้าได้ร่วมสำรวจพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของนักแสดง ผู้กำกับ ตลอดจนคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งผลการสำรวจที่น่าสนใจ พบว่า ความกังวลต่อการใช้โซเชียลมีเดีย เรื่อง ความไม่เป็นส่วนตัวและอาจถูกแบล็กเมล์ มีมากที่สุดถึง 31.4% รองลงมาคือ กลัวโดนหลอกลวงจากสังคมออนไลน์ 28.49% กลัวโดนแฮก สร้างความเสียหาย 26.74% และ โพสต์ผิด คิดจนตัวตาย 13.37%
ในขณะที่ข้อเสียของโซเชียลมีเดียที่น่ากลัวที่สุด คือ ข่าวมั่ว ข่าวผิด ลือ กระจายไว 46.51%
ใช้โซเชียลไม่ระมัดระวัง ผลร้ายมากกว่าผลดี 27.33% ไม่รู้หน้าไม่รู้ใจ ปลอมแปลงข่าวสาร ทำร้ายกัน 16.28% และ ติดโซเชียลมากไป ส่งผลกับการลอกเลียนแบบในทางที่ผิด 9.88%
ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จาก “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” กล่าวถึงการใช้โซเชียลมีเดียที่เหมาะสมในสังคมไทยว่า ความเหมาะสมนั้นเป็นเหมือนจริยธรรม ซึ่งปัจจุบันยังมีคนไทยอีกเยอะที่ลืมคำว่าจริยธรรมในการเล่นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ไป ก็เลยรู้สึกว่าเราทุกคนควรจะใส่ใจในเรื่องนี้ก่อนเป็นอันดับแรกครับ
พลอยชมพู ญานนีน ภารวี ไวเกล นักร้องหน้าใสขวัญใจเน็ตไอดอล ผู้ขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่อง “รุ่นพี่” กล่าวว่า อยากให้วัยรุ่นไทยเลือกใช้โซเชียลมีเดียในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เช่น ถ้าอยากจะเป็นนักร้อง สนใจเรื่องการร้องเพลง ก็ให้ฝึกหัดร้องเพลงจากคลิปตามยูทูบ (YouTube) ดูคำแนะนำเทคนิคการร้องเพลงอย่างไรให้ดีขึ้น เป็นต้น
ได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ นักแสดงและพิธีกรมากความสามารถ กล่าวว่า ทุกอย่างในโลกนี้มีทั้งดีและไม่ดี โซเชียลมีเดียอาจเชื่อมโยงโลกให้เล็กลง ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้เร็วมากยิ่งขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งที่อยากให้ทุกคนคิดเสมอคือ พอได้รับข้อมูลมากขนาดนี้ จะต้องกรองว่าอะไรคือความจริง อะไรคือไม่จริง และอีกเรื่องที่อยากฝากไว้คือ ทุกคนยังคงเป็นมนุษย์อยู่ ไม่ได้เป็นคอมพิวเตอร์ บางทีก็อยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กจนลืมโลกที่แท้จริงที่เรียกว่าโซเชียลเวิร์ล (Social World)
ติ๊ก กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ “Snap แค่..ได้คิดถึง” ซึ่งคว้า 3 รางวัลจากเวทีนี้ ได้ฝากถึงเยาวชนเจนวาย (Gen Y) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงที่สุดต่อสัปดาห์จากการสำรวจของเอ็ตด้าว่า น้อง ๆ เด็ก ๆ ควรแบ่งเวลาใช้โซเชียลให้เหมาะสมเวลาเรียนก็ต้องเรียน ไม่ใช่ทุกเวลาคือการเล่นโซเชียล และควรเสพโซเชียลโดยใช้วิจารณญาณด้วยค่ะ
ณ วันนี้ โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอันทรงพลังในสังคมไทย การใช้ชีวิตประจำวันของคนส่วนมากเกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก ซึ่งหากสังคมไทยไม่เร่งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อตั้งรับกระแสดังกล่าวให้ดีแล้ว สังคมไทยอาจจะได้รับพิษภัยของโซเชียลมีเดียมากกว่าที่จะรับประโยชน์ก็ได้