1

ETDA ร่วมจัดเวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย

IMG_7531

ETDA ร่วมกับ มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) และอีก 15 องค์กร จัด “เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย” (Thailand Internet Governance Forum) โดมีหน่วยงานรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า 300 คน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวทีครั้งนี้ถือเป็นเวทีอภิบาลอินเทอร์เน็ตระดับประเทศครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการจัดเฉพาะกลุ่มเฉพาะเรื่อง หรือจัดโดยมีเจ้าภาพเฉพาะภาคส่วน ทำให้ประเด็นปัญหาอาจไม่รอบด้านเพียงพอ นอกจากนี้ยังขาดกลไกที่จะนำประเด็นถกเถียงดังกล่าวเข้าสู่การถกเถียงในระดับภูมิภาคหรือระดับสากลอย่างเป็นระบบ ทำให้การแก้ปัญหาหรือวางแผนพัฒนาเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพนัก เนื่องจากหลายประเด็นเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศ ทางกลุ่มองค์กรร่วมจัดงาน
การจัดเวทีในครั้งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดเวทีในระดับชาติเพื่อการแลกเปลี่ยนและเสนอนโยบายอินเทอร์เน็ตที่รอบด้านและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังควรผลักดันให้เกิดกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพให้กับทุกภาคส่วนมีความรู้และทรัพยากรที่เพียงพอที่จะเข้าร่วมในเวทีดังกล่าวได้อย่างมีความหมาย
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า สำหรับ ETDA “อินเทอร์เน็ต” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และเราคือผู้ที่ได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล Soft Infrastructure ซึ่งครอบคลุมในเรื่อง Cybersecurity Privacy และเรื่องกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเข้าไปดูในเรื่องเหล่านี้ ประกอบกับ ETDA ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนหลักในการเข้าไปมีส่วนร่วมบนเวที ICANN โลก ซึ่งกำลังมี Big Change ของอินเทอร์เน็ต ที่สหรัฐฯ กำลังจะมอบอินเทอร์เน็ตให้โลกช่วยดูแล ประเด็นที่เกิดคำถามขึ้นคือ เราจะร่วมกันดูแลอินเทอร์เน็ตโลกได้อย่างไร จึงเกิดการกระตุ้นให้เกิดการตั้ง Internet Multi-stakeholders ในทุกประเทศ ที่มีการรวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งรัฐ เอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ฯลฯ มาช่วยกันทำงาน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ และให้เป็นกระบอกเสียง สำหรับการสะท้อนสิ่งที่แต่ละประเทศต้องการ ไปยังเวทีอินเทอร์เน็ตโลก
เวทีนี้ได้พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต 13 ประเด็น ได้แก่ การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตภาษาไทย การป้องกันเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ความเป็นส่วนตัว กลไกการอภิบาลอินเทอร์เน็ต การแสดงออกบนโลกออนไลน์ Cybersex การขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยข้อมูลเปิด EPUB การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์และโอกาสในการมีส่วนร่วม และสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์