ETDA จับมือยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ Kick off โครงการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซ คาดการณ์มูลค่าตลาดออนไลน์เติบโตขึ้นหลายเท่าตัว

0
439
image_pdfimage_printPrint

6

ETDA จับมือยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ Kick off โครงการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซ
คาดการณ์มูลค่าตลาดออนไลน์เติบโตขึ้นหลายเท่าตัว

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสัมมนากรอบแนวคิดและวิธีการในการสำรวจและวิจัยในโครงการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2558 ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

นายชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ETDA เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการพัฒนา ส่งเสริม และผลักดัน ในเรื่องของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ ให้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน การจัดทำโครงการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในครั้งนี้ ก็เพื่อจะนำข้อมูลมูลค่าขายที่แท้จริง ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ ตลอดจน ผลลัพธ์ของการวิจัยไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนเชิงกลยุทธ์ของ ETDA ภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อีคอมเมิร์ซของไทย ร่วมถึงเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล

ทั้งนี้ในการประชุมมีผู้บริหารระดับสูงในองค์กรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด เพื่อหาคำตอบร่วมกันในประเด็นกรอบแนวคิดในการสำรวจมูลค่าขายและการเจริญเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าการค้าขายมหาศาล ในปี 2557 ถึง 2558 คาดการณ์ว่าอาจเติบโตหลายเท่า จากปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2555 ถึง 2556 ที่มีมูลค่าขายถึง 744,419 และ 768,014 ล้านบาท ตามลำดับ

ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูง จากองค์กรชั้นนำที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนจากภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงไอซีที สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไปรษณีย์ไทย ตัวแทนจากสมาคมต่าง ๆ ได้แก่ สภาเอสเอ็มอีไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมการค้าเอสเอ็มอีไทย ชมรม ไอที สมาคมธนาคารไทย และตัวแทนจากภาคเอกชน ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัลออนไลน์ กรุ๊ป หรือ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บิ๊กซี ช้อปปิ้ง ออนไลน์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพฯ บริษัท แอร์เพลย์ จำกัด (การีน่า) บริษัท วีซ่า ประเทศไทย จํากัด บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด บริษัท ทูซีทูพี จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด บริษัท ซี ดีสทริบิวชั่น ประเทศไทย จำกัด บริษัท เพย์สบาย จำกัด บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด บริษัท เน็ตดีไซน์ จำกัด บริษัท พันธวณิช จำกัด บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด บริษัท ทรู ดิจิตอล คอนเท้นท์ แอนด์ มีเดีย จำกัด และอีกหลายองค์กรชั้นนำด้านอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย โดยได้ร่วมระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นการสำรวจมูลค่าขายและการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
การสำรวจและวิจัยในครั้งนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ที่ดีให้กับ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ตามหลักเกณฑ์ของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) มาตรฐานการจัดประเภทธุรกิจระหว่างประเทศ (International Standard Industrial Classification of all Economic Activities: ISIC) และมาตรฐานการจัดประเภทธุรกิจของประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification: TSIC) เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้ถูกหลักมาตรฐานโลก
ในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นก้าวแรก และเป็นครั้งแรกที่มีผู้บริหารระดับสูงของทุกภาคส่วนร่วมมือกันให้ความสำคัญในการกำหนด กรอบแนวคิด มาตรฐานการสำรวจมูลค่าขายและการเจริญเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ในการผลักดันให้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตและประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน (ASEAN Economic Community :AEC) อีกทั้งมูลค่าขายที่จะได้นี้ จะกระตุ้นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดความสนใจ ความเชื่อมั่น และอยากลงทุนในตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอกนิกส์ไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ในการนี้ สามารถติดตามการแถลงข่าวที่จะจัดขึ้นในเรื่องของการบรรยายผลการวิเคราะห์ ในหัวข้อ “โครงการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2558” ในเดือนกันยายน 2558 ที่จะถึงนี้