DTI ชี้ “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” โอกาสบนความท้าทาย…เติบโตได้อย่างยั่งยืน

0
385
image_pdfimage_printPrint

fx3-Rr

DTI ชี้ “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” โอกาสบนความท้าทาย…เติบโตได้อย่างยั่งยืน
“พัฒนาและเสริมสร้างงานของกองทัพและระบบป้องกันประเทศให้ทันสมัย มีความพร้อมในการรักษาอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติ ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ สามารถบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้”
นี่คือหนึ่งในนโยบายด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศในระยะเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้นมีความสำคัญอย่างไร?
หากพูดถึงคำว่า “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” คนส่วนใหญ่อาจนึกถึง การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในการป้องกันประเทศ ซึ่งในยุคปัจจุบันหลายคนมองข้ามว่าเป็นสิ่งสำคัญ เลือกที่จะใช้การเจรจาเป็นหลักเพราะไม่ต้องใช้อาวุธไปรบกับใคร ไม่เกิดการสูญเสีย แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกประเทศมีการวางแผนเรื่องการป้องกันประเทศเพื่อสนับสนุนชาติด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ในระดับอาเซียนนั้น ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รองลงมาคืออินโดนีเซีย ประเทศเขายังคิดเรื่องสงครามอยู่ตลอดเวลาหรือ? นั่นคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่น่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมมากกว่า เพราะถ้าเราขาดการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มีความทันสมัย ความสามารถในการป้องกันประเทศก็จะน้อยตามไปด้วย และเราก็อาจจะเป็นประเทศที่อ่อนแอ ไม่มีอำนาจในการต่อรองและเสียเปรียบเรื่องการแข่งขันในหลายด้าน
พลเอก สมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI กล่าวว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยมีโอกาสเติบโตได้ จากสถิติผลงานวิจัย-พัฒนาที่ผลิตออกมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงาน (DTI) มีแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างและผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
“ที่ผ่านมา สิ่งที่เราขาดในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มีความยั่งยืน ก็คือความต่อเนื่องของบุคลากรที่คิดค้นงานวิจัยนั้นๆ โครงสร้าง และ ยศ ตำแหน่ง ของทหารมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายบ่อย พอย้ายที่ทำงานใหม่ก็ทำให้งานที่คิดค้นวิจัยมานั้นต้องหยุดไป ไม่มีการสานต่อซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย DTI จึงก่อกำเนิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นในประเทศ โดยแนวคิดของเราคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมภาคเอกชนให้มีการเติบโตขึ้น ซึ่งก็สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น และเมื่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศเติบโตขึ้นก็จะมีประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ต้องเสียดุลทางการค้าในการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านการทหารอีกด้วย”