Digital Park Thailand เมืองใหม่แห่งนวัตกรรมความหวังไทยสู่ยุค 4.0

0
382
image_pdfimage_printPrint

นับตั้งแต่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ตั้งขึ้นเราได้ขานรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลของรัฐบาลอย่างไม่หยุดยั้งและหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ใหญ่ที่ DEPA ปักธง คือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล Digital Park Thailand ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการเป็นเมืองใหม่ ที่มีบริการครบวงจรด้วยการผลักดัน ศูนย์กลางของการค้า การลงทุน การสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ให้เกิดสถาบันไอโอที (IoT Institute) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานนั้น เกิดจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีดำริให้ตั้งสำนักงานเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภายในกระทรวง โดยการร่วมมือกันในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน, ระบบสาธารณูปโภค, ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม, Data Center ซึ่ง DEPA ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT บริษัทที่ปรึกษา Saville และ Broadway Mayan จากประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภายนอกร่วมดำเนินงาน อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ Digital Park Thailand ตั้งอยู่ในเทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการขับเคลื่อนสำคัญของนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยพื้นที่ดังกล่าวถือว่าเหมาะสำหรับการสร้างเมืองใหม่ เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภค โดยเฉพาะ internet backbone ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี สำหรับแผนการใช้งานพื้นที่หลักๆ ของ Digital Park Thailand กว่า 700 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก Digital Innovation Zone คือ พื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล ถูกวางไว้ให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะมีทั้งส่วนของมหาวิทยาลัยและสถาบันสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเน้นไปที่การยกระดับทักษะบุคลากร re-skill ของบุคลากรซึ่งทำงานในพื้นที่เป็นหลัก และในส่วนของ Innovation Space นั้น ทาง DEPA ได้เตรียมที่จะตั้ง IoT Institute ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาโปรดักต์ที่ใช้เทคโนโลยี Internet of Things ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ โดยจะมี mentor ซึ่งเป็น researcher ในอุตสาหกรรมนั้นๆ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย คอยให้คำแนะนำ นอกจากนี้ยังออกแบบให้เป็นสนามทดสอบ (Testbed) ทดลองนวัตกรรมดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และระบบอัจฉริยะในสภาพแวดล้อมจริง

ต่อมาคือ Digital Service Zone เป็นพื้นที่สำหรับธุรกิจดิจิทัลที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และส่วนสุดท้าย คือ Smart Living Zone พื้นที่อยู่อาศัยภายใต้ระบบอัจฉริยะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและสร้างประสบการณ์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้งานจริงในชีวิตประจำวันได้ โดยทั้งสามส่วนนี้จะถูกนับรวมเป็นเมืองใหม่ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม S – Curve ทั้ง 10 อุตสาหกรรมในบริเวณแหลมฉบัง อาทิ ยานยนต์แห่งอนาคต, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, เกษตรแปรรูป และอื่นๆ

“สำหรับเป้าหมายหลักของ Digital Park Thailand นั้นนอกจากบุคลากรที่ทำงานและอาศัยในแหลมฉบังแล้ว ทาง DEPA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าใช้ที่นี่เป็นจุดพักอาศัยของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องผลประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมจากการส่งเสริมการลงทุน BOI ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่อง Digital Talent Pass ให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อลดเงื่อนไขและกระบวนการ สำหรับการเดินทางเข้าประเทศหากมีทักษะหรือความรู้ที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะวางวางรากฐานหลักของ Digital Park Thailand ให้พร้อมภายใน 5 ปี เพื่อใช้เป็นหลักไมล์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล และนำประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มตัวต่อไป” ดร.ณัฐพล กล่าว