CIM DPU จัดงาน “Practical Point in Wellness” ถอดบทเรียนวิกฤตโควิด-19

0
567
image_pdfimage_printPrint

สาขาวิชาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัด งานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 SMART: The Second Synergistic Meeting of Anti-Aging and Regenerative Medicine of Thailand ในหัวข้อ “Practical Point in Wellness” โดย ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ รองคณบดีและผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการชะลอวัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ เปิดเผยว่า งานนี้ได้รวบรวมเอาองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องของ Wellness เจาะลึกกับศาสตร์ของ Wellness พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้าน Wellness ซึ่งแบ่งเป็นบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ และการนำเสนอผลงานวิจัย ทางด้านวิทยาการชะลอวัยและสุขภาพ
ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดี สายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการจัดงานนี้ว่า “จากข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของประชากรโลกในปัจจุบัน พบว่ากว่า 70% ในกลุ่มผู้เสียชีวิต สาเหตุมาจากโรคในกลุ่ม NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อ ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ถ้ามีการดูแลสุขภาพ ดังนั้นเวชศาสตร์ชะลอวัย จึงเน้นการป้องกันและดูแลสุขภาพภายในแบบองค์รวมโดยลงลึกถึงระดับเซลล์ ซึ่งถือว่าเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมาก และเพื่อเป็นเวทีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งสร้างสรรค์งานวิจัยใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศาสตร์นี้ให้ก้าวหน้า ต่อยอดให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต”
ภายในงานมีวิทยากรชั้นนำระดับประเทศที่มาแชร์ความรู้ด้านธุรกิจ Wellness ด้านธุรกิจเกี่ยวกับความงาม รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง คลินิกผิวหนังความงามในยุคโควิด ว่าสำหรับหมอด้านความงาม ในช่วงการระบาดของโควิด จะมีความเสี่ยงมากในเรื่องของการทำเลเซอร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยออกมาแล้ว ตรวจพบไวรัสหูดในควันของเลเซอร์ เชื้อ SARS-CoV-2 สามารถอยู่ได้นาน 2 ชั่วโมง 9 วันในอุณหภูมิห้อง ดังนั้นหัตถการที่มีควันทั้งหลายเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยง เช่น การจี้ไฟฟ้า การจี้ความเย็น เลเซอร์ที่เกิดควัน หรือ หัตถการที่ใช้เวลานาน เช่น ฉีดฟิลเลอร์หลายตำแหน่ง การกดสิว เราจึงให้ความสำคัญมากในเรื่องมาตรการความปลอดภัย และแนวทางการปฏิบัติของคลินิกผิวหนัง สำหรับมาตรการในการบริการลูกค้าให้กลับมาใช้บริการได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งหมอ บุคลากรในคลินิก มี 3 อย่าง ได้แก่ มาตรการด้านผู้ป่วย มาตรการด้านเจ้าหน้าที่ และมาตรการด้านเครื่องมือและสถานที่
มาถึงธุรกิจสปา คุณกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย ผู้บริหารรีสอร์ทเพื่อสุขภาพระดับโลก (ชีวาศรม) กล่าวว่า “ธุรกิจสปา สุขภาพ อยู่ภายใต้เรื่องของการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ประเทศไทย GDP การท่องเที่ยวมีเกือบ 20% ของทั้งประเทศ เมื่อเราถูกตัดเส้นเลือดใหญ่ในเรื่องของการท่องเที่ยว แน่นอนว่าธุรกิจด้านการบริการทั้งหมดเป็นศูนย์ ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก สำหรับช่วงที่เราจะต้องอยู่กับโควิดนี้ ช่วงเวลาที่เราปิดรีสอร์ทไม่มีนักท่องเที่ยว สิ่งหนึ่งที่ผมทำเสมอ และพยายามให้มันเกิดเป็นภาพใหม่ ก็คือ เรื่องของ online wellness services ต้องให้ความสำคัญกับของเทคโนโลยี ยกตัวอย่างของ ชีวาศรม ในช่วงหยุดกิจการ แล้วยังมีพนักงานเต็มที่เราใช้วิธีการติดต่อลูกค้าตลอดเวลา โดยใช้วิธีการ online wellness services ก็คือ คุยกับลูกค้า ให้บริการในเรื่องของ wellness ดังนั้นเราจะเห็นภาพการออกกำลังกายกับหน้าจอ และให้คำปรึกษาทางด้านของจิตใจ หัวใจที่สำคัญสำหรับนักธุรกิจทุกคนที่ต้องทำความเข้าใจคือ ในขณะที่เรายังไม่สามารถคุยกับลูกค้าได้ เราต้องรักษาลูกค้าไว้ตลอดเวลา ด้วยวิธีการต่างๆ และด้วยเทคโนโลยีที่มีและเราต้องปรับตัวเองให้ได้”
ในส่วนของภาคธุรกิจโรงพยาบาลนั้น ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ Senior Associate Chief Medical Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจัดการช่วงการระบาดของโควิดไว้ว่า “เชื่อว่าวิกฤตนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เราจัดการกับความกลัวด้วยความจริงอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้เราชนะในทุกๆศึกที่เรากำลังเผชิญกับมัน หลายองค์กรพยายามรวบรวมเสนอออกมาเป็นทางออก หนึ่งในนั้นเป็นเรื่อง innovation เรื่องของคน รวมถึงการเตรียมความพร้อม
เราสามารถที่จะปรับตัวได้ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มาจากคุณหมอ พนักงาน และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้สร้างการบริการแบบใหม่ (60 second service) ฉีดวัคซีนรับยาใช้เวลาเพียง 60 วินาที ซึ่งการที่เราเป็นโรงพยาบาลเอกชน สิ่งที่สำคัญมากคือต้องรับฟังเสียงของผู้เข้ารับบริการ และยังมี Innovation ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงโควิด จะเห็นว่าเป็นครั้งแรกที่เราใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง ทั้งๆที่เรามีสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว เรามี online learning มานานแต่เรามาเพิ่งใช้จริงจังในช่วงนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพียงแค่เราไม่ได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์”
ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าวเสริมถึงบทเรียนที่ได้จากวิกฤตโควิด คือ เราได้ความรู้ในการต่อสู้กับโควิด เราได้บทเรียนจากการที่เราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยน ต้องทำอะไรใหม่ๆ มีอะไรบ้างที่ทำให้โรงพยาบาลไม่มีผู้ติดเชื้อ บอกได้เลยว่า คือ ความรู้ พวกเราต้องรู้จริงในสิ่งที่กำลังเผชิญ แม้ว่าโรคนั้นจะเป็นโรคระบาดใหม่ก็ตาม แต่เราก็ต้องหาความรู้ และยังต้องมี partner ซึ่งต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฉะนั้นบทเรียนขององค์กร บทเรียนของ partner เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เราเข้มแข็งแล้วเดินต่อไปได้ สุดท้ายการตัดสินใจต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ เราจะไม่ตัดสินใจจากความเห็นส่วนบุคคลโดยเด็ดขาด ทุกการตัดสินใจขึ้นอยู่กับหลักการวิทยาศาสตร์ ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าในวิกฤตมีโอกาส การระบาดครั้งนี้ทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นเราจะใช้โอกาสที่มีตรงนี้อย่างไร คำว่า “ต้อง” จะมาในตอนนี้เท่านั้น ทุกคนต้อง work from home ทุกคนต้องล้างมือ แล้วถ้าพ้นจากตรงนี้ก็จะไม่มีให้เราได้ปรับได้ง่าย การยอมรับจะยากมากขึ้น

ดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม Click >>> https://www.dpu.ac.th/news/1506