CIBA_มธบ.เปิดผลวิจัยปัจจัยกระทบต่อราคาหุ้น IPO
‘วิ่ง’ หรือ ‘นิ่ง’ เกิดจากเหตุใด
CIBA_มธบ. เปิดเผยผลการศึกษาถึง “ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นในการเสนอขายครั้งแรก (IPO Underpricing) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” อะไรบ้างที่ส่งผลกระทบจาก “กลไกภายนอก” และ “กลไกภายใน” ก่อนนำไปสู่การวางแผนทางธุรกิจและนำไปใช้ในการตัดสินใจในการลงทุน
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบัญชี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เน้นผลิตนักวิจัยทางด้านบัญชีที่มีมุมมองด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเน้นให้นักศึกษาปริญญาเอกทำวิจัยงานเกี่ยวกับบัญชีที่จะแก้ปัญหาหรือมีประเด็นต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ยกตัวอย่างเช่น หัวข้อวิจัย “ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นในการเสนอขายครั้งแรก (IPO Underpricing)ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” โดยนางสาว รักชนก สำเนียงล้ำ นักศึกษาปริญญาเอกของเรา ซึ่งนำประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ และนำปัญหาที่พบในการทำงานมาค้นคว้าวิจัยหาคำตอบว่ามีปัจจัยใดบ้างที่มีผลกระทบต่อราคาของหุ้นไอพีโอ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก ดังนั้น ไอพีโอของประเทศไทยจึงเติบโตตามไปด้วย แต่ตลาด MAI (Market for Alternative Investment ) กับตลาด SET(Stock Exchange of Thailand) จะมีความต่างกัน ปัจจัยที่สัมพันธ์กับราคาหุ้นก็ต่างกัน จึงเป็นที่มาของการศึกษางานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่จะช่วยในการวางแผนทางธุรกิจและนำไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นได้
ด้าน นางสาวรักชนก สำเนียงล้ำ เปิดเผยว่า การศึกษาในหัวข้อ “ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นในการเสนอขายครั้งแรก (IPO Underpricing)ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ในครั้งนี้เพื่อวิเคราะห์ลักษณะกลไกภายนอกบริษัท และลักษณะกลไกภายในบริษัทที่มีผลต่ออิทธิพลต่อราคาหุ้นในการเสนอขายครั้งแรก (IPO Underpricing)ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ในทิศทางต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเกิด IPO Underpricing ซึ่งมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการลงทุนในด้านการเจริญเติบโตของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2557-2561
สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษามาจากประชากร คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในระหว่างปี 2557 – 2561 จำนวน 81 บริษัท แบ่งเป็นประเภทของกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่มอุตสาหกรรม
ผลจากการศึกษาสะท้อนให้เห็นได้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อราคาหุ้นIPO ซึ่งแบ่งออกเป็น “กลไกภายนอก” และ “กลไกภายใน” โดยในส่วนของ “กลไกภายนอก” มี 6 ปัจจัยสำคัญที่อาจจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาต่ำกว่ามาตรฐาน ได้แก 1. ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 2. จำนวนผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 3. ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) 4. ผู้ตรวจสอบบัญชี (Audit) 5. ช่วงเวลาการนำหุ้นเสนอขายครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไป และ 6. วิธีการกำหนดราคาขายหุ้นสามัญ
ส่วน “กลไกภายใน” ที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นมีผลกระทบต่อราคาหุ้น มีด้วยกัน 6 ปัจจัยที่อาจจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาต่ำกว่ามาตรฐาน ได้แก่ 1. อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ย้อนหลัง 3 ปีก่อนเข้าตลาด) 2. อัตราการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA)(ย้อนหลัง 3 ปีก่อนเข้าตลาด) 3. อัตราการเติบโตของยอดขาย(ย้อนหลัง 3 ปีก่อนเข้าตลาด) 4. สัดส่วนผู้ถือหุ้นแบบกระจายตัวและสัดส่วนผู้ถือหุ้นแบบกระจุกตัว 5. ความสัมพันธ์ทางการเมืองของประธานบริษัทมีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาต่ำกว่ามาตรฐานในการเข้าตลาดครั้งแรก (IPO Underpricing) และสุดท้าย 6. ผู้ตรวจสอบภายใน IA
รักชนก กล่าวว่า ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในหลายทาง ได้แก่ 1. สำนักงานคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการควบคุมบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเรื่องของการกำหนดราคาหลักทรัพย์ IPO ของแต่ละบริษัทมีถูกต้อง เหมาะสม และมีความน่าเชื่อถือ ก่อนที่จะเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่ประชาชน ทั้งยังเป็นการเพิ่มเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ ความมั่นคงให้กับองค์กร
2. บริษัทต่างๆ สามารถนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาองค์การของตนเองในด้านต่างๆ อาทิ แหล่งเงินทุนในการพัฒนาหรือขยายธุรกิจรวมทั้งเป็นการวางแผนบริหารภายในและภายนอกของบริษัทเพื่อใช้ในการตัดสินใจในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
3. นักลงทุนสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและวิเคราะห์ไปกำหนดทิศทางการลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการลงทุนในหลักทรัพย์ IPO
4. ประชาชนทั่วไป นักศึกษา นักวิชาการ และผู้ที่สนใจในการศึกษาสามารถนำข้อมูลไปเป็นแนวทางพัฒนาองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต
ในภาพรวมแล้วประโยชน์จะเกิดขึ้นทั้งกับบริษัทที่ต้องการหาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาหรือขยายธุรกิจสามารถนำผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถไปใช้ในการวางแผนในการเตรียมตัวนำบริษัทเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนสามารถนำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อตัดสินใจในการลงทุนในหลักทรัพย์ IPO ของตลาดหลักทรัพย์ได้
///////////////////////////////////////////////