CIBA_มธบ.ชี้ยุคโควิด-19 หลักสูตรการเรียนการสอนไทยต้องเปลี่ยน

0
294
image_pdfimage_printPrint

CIBA_มธบ.ชี้ยุคโควิด-19 หลักสูตรการเรียนการสอนไทยต้องเปลี่ยน
CIBA มธบ. เดินหน้าปรับทุกหลักสูตรเรียนรู้ทั้งแบบออนไลน์–ออฟไลน์ ระบุยุคโควิด-19 เน้นเรียนสอนเฉพาะออนไลน์หรือออฟไลน์ 100% ไม่ได้ ต้องเรียนรู้แบบผสมผสาน ชี้เรียนออนไลน์ไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เด็กไทยที่ชอบปฏิสัมพันธ์ แนะหน่วยงานรัฐส่งเสริมเรียนออนไลน์ เป็นห่วงนักศึกษาต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ต
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า ตามนโยบายกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยดำเนินการสอนแบบออนไลน์ในช่วงภาวะการณ์เช่นนี้ ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ทุกคณะ ทุกหลักสูตรต้องมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์นั้น วิทยาลัย CIBA มธบ. ได้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยมีการนำเทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆ มาช่วยทั้งนักศึกษา และคณาจารย์ผู้สอน ไม่ว่าจะเป็น Zoom Video Conferencing, Google Meet, Microsoft Team, Google classroom, Google docs และGoogle Sheets รวมถึงการไลฟ์สด การอัดคลิปวิดีโอ ทางมหาวิทยาลัยมีการอบรมคณาจารย์ถึงกระบวนการต่างๆ เพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากการดำเนินการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ดังกล่าว เบื้องต้นแล้วทั้งนักศึกษาและคณาจารย์มีการเรียนรู้ได้อย่างดี และเข้าใจเนื้อหาบทเรียน แต่เมื่อสอบถามความรู้สึก นักศึกษาในระบบที่เรียนในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่อยากจะมาเรียนที่มหาวิทยาลัย อยากมาพบเพื่อน อยากมาปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แต่ในส่วนของนักศึกษาที่เรียนภาคพิเศษ หรือนักศึกษาระดับปริญญาโท หรือเรียนหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งเป็นคนทำงานอยู่แล้วก็จะชื่นชอบการเรียนออนไลน์อย่างมาก
“จากการเรียนออนไลน์ของนักศึกษา โดยส่วนตัวมองว่าหลักสูตรการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 หรือ หลังโควิด-19 ของวิทยาลัย CIBA คงต้องปรับหลักสูตร การเรียนการสอนแบบผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์ และการเรียนในชั้นเรียนหรือออฟไลน์ เพราะด้วยบริบท ไลฟ์สไตล์ของนักศึกษาพวกเขาอยากจะมามหาวิทยาลัย มาพบเพื่อนมากกว่าเรียนผ่านออนไลน์ ดังนั้น หลักสูตรต่างๆ คณาจารย์ รวมถึงการวัดและประเมินผลต่างๆ ต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสมทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เนื่องจากหากสอนเป็นออนไลน์ 100% หรือออฟไลน์ 100% ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพื่อดึงดูดความสนใจแก่ผู้เรียน ทั้งนี้ควรมีการเรียนแบบผสมผสานในภาวะปกติ เนื่องจากคาดว่านักศึกษาทุกคนจะต้องใช้ชีวิตในวิถีปกติแบบใหม่อีกระยะหนึ่ง”คณบดีCIBA กล่าว
อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างจากสินค้าและบริการต่างๆ เพราะมนุษย์ชอบมีสังคมและชอบปฏิสัมพันธ์ มาสื่อสาร มาเจอเพื่อน การเรียนออนไลน์จึงอาจไม่ตอบโจทย์ แต่ในกลุ่มของคนวัยทำงานกลับพบว่าการเรียนออนไลน์มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง
ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวต่อไปว่าบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในขณะนี้ นอกจากจะพัฒนาทักษะการศึกษาให้แก่คนรุ่นใหม่แล้ว ยังต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น Up-Skill และ Re-Skill และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่คนทุกช่วงวัย ดังนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนจึงมีความหลากหลาย และรูปแบบการสอนเองก็ต้องปรับให้มีทั้ง 2 แบบ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อีกทั้งคงไม่มีสูตรสำเร็จว่าหลักสูตรไหนจะเป็นออนไลน์ 100% ได้ นอกจากนั้น โหมดการสอนของอาจารย์ก็ต้องพัฒนา ถือเป็นโอกาสที่ดีที่อาจารย์ทุกมหาวิทยาลัยได้ปรับตัวเอง ได้รู้ว่าการเรียนแบบไหนจะเหมาะสมกับเด็กรุ่นใหม่ และสามารถส่งเสริมให้นักศึกษา คนทุกช่วงวัยได้เรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ในส่วนของการเรียนออนไลน์นั้น เป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย เป็นภาระที่นักศึกษาและครอบครัวต้องรับผิดชอบ เช่น อินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเรียนออนไลน์ เพราะหากสุดท้ายการเรียนออนไลน์นั้นจะทำให้นักศึกษาหรือครอบครัวมีภาระเพิ่มขึ้น การพิจารณาเรื่องดังกล่าวจึงจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย