Chevron Enjoy Science จับมือศูนย์ SEAMEO STEM-ED – 3 กระทรวงหลัก ส่งเสริมนโยบาย “สะเต็มศึกษา”

0
618
image_pdfimage_printPrint

Chevron Enjoy Science จับมือศูนย์ SEAMEO STEM-ED – หน่วยงาน 3 กระทรวงหลัก

ส่งเสริมนโยบาย “สะเต็มศึกษา” หวังต่อยอดสู่โมเดลการศึกษาอาเซียน

กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต และ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนา “สะเต็มศึกษา” ที่ครอบคลุมทั้งในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะวิชาชีพและการวิจัยเพื่อส่งเสริมคุณภาพเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 หวังสร้างต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดีผลักดันเข้าสู่ระดับนโยบายแก้ปัญหาประเทศระยะยาว ก่อนต่อยอดใช้เป็นโมเดลการศึกษาอาเซียนต่อไป

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในฐานะสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) กล่าวว่า ความร่วมมือจากทุกภาคีครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาและด้านการพัฒนาวิชาชีพกับภาคเอกชนในรูปแบบคลัสเตอร์เป็นครั้งแรก ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์กับประเทศอย่างแท้จริง เพราะตอบโจทย์เทรนด์การศึกษาโลก ที่ต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เท่าทันสถานการณ์และบริบทโลก ดังนั้นด้วยเครือข่ายและองค์ความรู้ของศูนย์ SEAMEO STEM-ED และโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่เข้ามาร่วมทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถช่วยเติมมุมมองและสนับสนุนการพัฒนาสะเต็มศึกษาไทยและร่วมกันต่อยอดในระดับภูมิภาค

“ปัจจุบันชาติอาเซียนกำลังเผชิญปัญหาคล้ายกันที่ล้วนสัมพันธ์กับสะเต็มศึกษา โดยเฉพาะขาดการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยศักยภาพของศูนย์ SEAMEO STEM-ED จึงคาดหวังว่าจะสามารถนำแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไปพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบแก้ปัญหาด้านการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนต่อไป”

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า ศูนย์ SEAMEO STEM-ED มุ่งเน้นการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาเข้าสู่ระดับนโยบายของประเทศ โดยเข้าไปบริหาร “โครงการ Chevron Enjoy Science ระยะ 2” ด้วยการส่งเสริมและให้ข้อแนะนำถึงการเรียนรู้สะเต็มศึกษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน รวมถึงจัดทำวิจัยเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายทางการศึกษาและแนวปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับ ภายใต้กรอบทำงาน 3 ด้าน

1. ด้านนโยบายสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ หรือ เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 2. พัฒนาจัดการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาผ่าน 3 กิจกรรม STEM Professional Academy เพิ่มศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา STEM Learning Modules พัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้และจัดเวทีวิชาการ และ STEM Career Academies แนะแนวทางศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เพิ่มทักษะจำเป็น และสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพด้านสะเต็ม และ 3. ส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านสะเต็มที่เหมาะกับบริบทของประเทศ

“ผลการดำเนินงานและข้อค้นพบที่ได้จากโครงการฯ จะถูกรวบรวมส่งต่อไปยังผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติอาเซียน หรือ SEAMEO Congress ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีหน้า”

ขณะที่ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ดำเนินงานรูปแบบ “รัฐร่วมเอกชน” ภายใต้ระยะเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2558 – 2565) ด้วยงบประมาณกว่า 1,160 ล้านบาท ซึ่งการที่เชฟรอนฯ ได้ร่วมมือกับศูนย์ SEAMEO STEM-ED เป็นการช่วยย้ำว่าสะเต็มศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องต่อยอดสู่ระดับนโยบายแต่ละประเทศ

ความต่อเนื่องคือสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาสะเต็มศึกษาให้บรรลุผลสอดรับเจตนารมณ์เชฟรอนฯ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังคน ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้เข้าไปสนับสนุนภารกิจภาครัฐสร้างพื้นฐานทักษะสะเต็มแก่เยาวชน ส่งเสริมให้เกิดการกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมระหว่างสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การร่วมกับมหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์สะเต็ม 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการสื่อการเรียนรู้ การพัฒนาครูต้นแบบ พัฒนาหลักสูตร และติดตามประเมินผลต่อเนื่อง โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 724 แห่ง มีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 3 ล้านคน

“การดำเนินโครงการฯ ระยะ 2 ยังให้ความสำคัญกับการ Upskill และ Reskill เพื่อส่งเสริมวิชาชีพด้านสะเต็มให้เยาวชน ด้วย Career Academies ที่นำโมเดลจากต่างประเทศ มาปรับใช้เข้ากับประเทศไทย คาดจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาคน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 โดยได้มีการนำเสนอภาครัฐเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการร่วมกันต่อไป” นายไพโรจน์กล่าว