เมื่อวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลไทย โดยกระทรวงไอซีที จัดงาน “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นการเปิดตัวแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้คอนเซปต์ GATEWAY TO THE WORLD พร้อมทั้ง ร่วมอภิปรายในหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจ และลงนามในข้อตกลงเพื่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลภายในงานครั้งนี้ด้วย
ดร. สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งไปที่การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา ขับเคลื่อนภาคการผลิตสินค้าและบริการของประเทศ โดยภายในงานดิจิทัลไทยแลนด์นี้ ได้มีการเปิดตัวแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งกำหนดเป็น 6 ยุทธศาสตร์หลัก ทั้งนี้ CAT จะเป็นกำลังสำคัญให้แก่รัฐบาลในทุกยุทธศาสตร์ โดยโครงการเร่งด่วนคือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่ง CAT ร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โครงการนี้จะเติมเต็มช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทด้วยโครงสร้างใยแก้วนำแสงที่จะครอบคลุมเกือบ 40,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งการพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง (High-Speed Broadband Internet) สำหรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ห่างไกล สถานศึกษา รวมถึงเครือข่ายทางการศึกษา (NEdNet) และเครือข่ายข้อมูลของรัฐบาล (GIN) เพื่อให้บริการข้อมูลที่มีประโยชน์และจำเป็นทั่วประเทศ
นอกจากนี้ CAT ยังให้ความสำคัญ และร่วมสนับสนุนโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Digital Infrastructure) สำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งเป็นการขานรับนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล โดยมีภูเก็ตเป็นเมืองนำร่องในการขับเคลื่อนชุมชนด้วยดิจิทัล ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับเมืองเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย การเข้าถึงบริการของเมืองได้รวดเร็ว และสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT มาช่วยในเรื่องของระบบจัดการการจราจร ไปจนถึงระบบจัดการน้ำ การจัดการขยะ ระบบตรวจจับ ตลอดจนการเฝ้าระวังความปลอดภัย”
ด้าน นายชัยยุทธ สันทนานุการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เผยรายละเอียดว่า “จากที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดให้เป็น Smart City ทั้งนี้ CAT จึงได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับการพัฒนา Smart City ในพื้นที่เศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ โดยขณะนี้มีการศึกษาเพิ่มเติมที่จะพัฒนาพื้นที่ขนาด 700 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ใกล้กับจุดเชื่อมต่อเครือข่ายทางทะเล ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้ง และขนาดของพื้นที่สู่การเป็น “Digital Innovation Park” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Smart City เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยจะให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีคุณภาพ และสามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้ตรงความต้องการ อย่างครบวงจร นำมาซึ่งการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และตรงต่อความต้องการได้มากขึ้น เป็นการเสริมสร้างการจ้างงานและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการเพิ่มผลผลิตและผลตอบแทนทางธุรกิจ ซึ่ง Digital Innovation Park จะเป็นพื้นที่ของการคิดค้นพัฒนา ระบบไอทีสำหรับองค์กร, สนับสนุนกลุ่ม Startup ให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ”
ทั้งนี้ ภายในงานดิจิทัลไทยแลนด์ 2016 CAT ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสองฉบับ โดยฉบับแรก ได้แก่ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะดิจิทัลสตาร์ทอัพ (Digital Startup Incubation Network) โดย กระทรวงไอซีที ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), สถาบันการเงิน ,สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนผู้ประกอบการรายใหม่ กว่า 21 องค์กร ลงนามเพื่อสร้างความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง โดยในการดำเนินงาน จะมีการจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านการบ่มเพาะ การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาคนโยบายและภาคปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจ ดิจิทัลสตาร์ทอัพ ส่งเสริมด้านการตลาดและการลงทุน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
ฉบับที่สองเป็น การลงนามบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสองแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจดิจิทัลคอมเมิร์ซ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นและเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน โดยCAT จะสนับสนุนการติดตั้งและพัฒนาระบบโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง (High-Speed Broadband Internet) ให้แก่มหาวิทยาลัยดังกล่าวในเบื้องต้น