CAT เดินหน้าจับมือพันธมิตรด้านโทรคมนาคมชั้นแนวหน้าของเอเชีย เพื่อก้าวสู่ “ASEAN Digital Hub”

0
392
image_pdfimage_printPrint

-เมฆนาวิน

CAT เดินหน้าจับมือพันธมิตรด้านโทรคมนาคมชั้นแนวหน้าของเอเชีย
เพื่อก้าวสู่ “ASEAN Digital Hub”

รัฐบาลไทยประกาศความพร้อมในการเป็น “ASEAN Digital Hub” เดินหน้าแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยนำความแข็งแกร่งในทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งและศักยภาพในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมของไทย มาเป็นปัจจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สนับสนุนการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยรวมไปถึงประเทศต่างๆ ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมให้ไทยมีบทบาทต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยการเป็นศูนย์กลางข้อมูลอาเซียน (ASEAN Digital Hub) จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพด้านโครงข่ายพื้นฐานระหว่างประเทศ (Hard Infrastructure) เป็นรากฐานสำคัญ และเนื่องในโอกาสที่รัฐบาลไทย เดินทางเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่ง ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการสร้าง Connectivity เชื่อมโยงระหว่างไทยและอินเดียในภาพรวม ที่ครอบคลุมทั้งเส้นทางคมนาคม และโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ “ASEAN Digital Hub”

ในการนี้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การพัฒนาโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ร่วมกับ บริษัท ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกในการพัฒนาด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของอินเดีย ที่มีฐานการให้บริการอยู่ในหลายประเทศทุกภูมิภาคของโลก โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และคณะรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยทั้งสองบริษัทจะร่วมกันศึกษาแนวการลงทุนพัฒนาโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของ CAT เชื่อมต่อกับโครงข่ายของทาทาคอมฯ ซึ่งเป็นเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำขนาดใหญ่ทันสมัยระดับ Tier-1 IP Network เชื่อมต่อ 400 จุดในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก

และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT นำโดย ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ร่วมคณะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ พร้อมกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อร่วมหารือองค์กรภาครัฐและเอกชนของจีน ในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-จีน ต่อเนื่องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยสู่ระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมสู่ผู้นำกลุ่มอาเซียน ในการนี้ โดย ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน ตัวแทนจาก CAT ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ และระบบเคเบิลภาคพื้นดินจากประเทศไทยไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ร่วมกับนายเซี่ยวเหว่ย (Mr.Xiao Wei) รองประธานบริหาร บริษัท China Telecom Global Limited หรือ CTG หนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านโทรคมนาคมและเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศจีน โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนาม MOU ดังกล่าว จะเป็นการผลักดันการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมุ่งพัฒนาขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศนั้น CAT รับนโยบายจากกระทรวงไอซีที ที่จะเน้นส่งเสริมเสถียรภาพโครงข่ายด้วยการเพิ่มความหลากหลายของระบบเชื่อมโยงระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจากเดิมที่ปริมาณข้อมูลส่วนใหญ่อาศัยการเชื่อมต่อกับสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นหลัก การเชื่อมต่อกับฮ่องกงในครั้งนี้ จึงเป็นการเพิ่มเส้นทางในการส่งผ่านข้อมูลไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และสามารถบริหารประสิทธิภาพโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของปริมาณการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล และผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)
โดย ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ความร่วมมือที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะสอดรับกับแผนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการสื่อสารของไทย โดยจากการคาดการณ์ของ CAT ได้ประเมินการใช้งานข้อมูลของคนไทยใน 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นจาก 3 เทราบิตเป็น 15 -20 เทราบิต ต่อวินาที หรือเพิ่มประมาณ 6 เท่า อีกทั้งยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง จากการเชื่อมโยงระบบเคเบิลภาคพื้นดินประสิทธิภาพสูงที่เชื่อมโยงทั้งในกลุ่มประเทศอินโดจีนและเชื่อมต่อยาวไปจนถึงฮ่องกง รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบเคเบิลใต้น้ำผ่านทั้งด้านตะวันตกฝั่งทะเลอันดามัน และด้านตะวันออกฝั่งอ่าวไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยจะยกระดับขีดความสามารถในทุกด้าน เพื่อรองรับผู้ให้บริการ Content รายใหญ่ระดับโลกที่จะมาลงทุนจัดวางระบบในประเทศไทย ที่มีความพร้อมทั้งในด้านตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ และระบบการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจร”

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ตัวแทนฝ่ายประชาสัมพันธ์ บ.สตูดิโอ แมงโก้ จก.
ปัฏ ปรีชาพานิช (แกะ) โทร. 086 349 2436
จิระภัทร์ หอมสนิท (ซี) 085 796 0976