CAT สนับสนุน “ภูเก็ต” เป็นเมืองต้นแบบ “SMART CITY” จับมือ “พาร์ตเนอร์” ต่อยอดพัฒนาบริการอัจฉริยะ ใช้งานผ่านโครงข่าย “LoRa IoT by CAT

0
523
image_pdfimage_printPrint

น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่จังหวัด “ภูเก็ต” ได้ถูกยกระดับให้ก้าวสู่ Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย CAT หรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้นำร่องเปิดตัวโครงข่าย LoRaWAN และระบบแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) เพื่อรองรับบริการอัจฉริยะด้านต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “LoRa IoT by CAT” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนระดับชั้นนำ จำนวนกว่า 30 แห่ง ได้นำอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว มาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ ภายในงาน “Success to Phuket Smart City” ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรม Bhukitta Grand Ballroom ณ จังหวัดภูเก็ต
การจัดงาน “Success to Phuket Smart City” นี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน พร้อมด้วย นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และเหล่าพันธมิตร โดยได้ร่วมกันเปิดตัวโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN ภายใต้โครงการ Phuket Smart City อย่างเป็นทางการ ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้เปิด LoRa IoT by CAT อันจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน Phuket Smart City ให้ก้าวสู่เมืองอัจฉริยะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า CAT มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN เพื่อรองรับบริการ IoT ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะโครงการ Smart City ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่ CAT เปิดตัวโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN อย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมทั่วจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการ Smart Services ด้านต่าง ๆ และการใช้งานอุปกรณ์ IoT ในจังหวัดภูเก็ตที่มีแนวโน้มจำนวนการใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยการพัฒนาสมาร์ตซิตี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ โครงสร้างพื้นฐาน และ การบริการ ซึ่งในส่วนแรก CAT ได้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูง Free Wi-Fi 1,000 จุดทั่วทั้งภูเก็ต และล่าสุดได้ติดตั้งโครงข่ายไร้สายสำหรับ IoT คือ LoRaWAN และในส่วนที่สอง CAT ยังได้ขยายมาในส่วนของบริการ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาบริการและโซลูชั่นต่างๆ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในท้องถิ่น ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเมืองภูเก็ตที่มีเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ยิ่งไปกว่านั้น CAT ยังพัฒนาแพลตฟอร์ม LoRa IoT by CAT เพื่อให้ความสะดวกต่อภาคธุรกิจ ที่จะเข้าร่วมศึกษาพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และให้บริการบนโครงข่าย LoRaWAN โดยบริการที่ได้เริ่มทดสอบให้บริการไปแล้ว ได้แก่ ระบบติดตามพิกัด (GPS Tracking) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งการเดินทางของยานพาหนะต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต อาทิ เรือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถเก็บขยะ รถทัวร์ ฯลฯ ทั้งนี้ การใช้งานบริการด้าน IoT ในภูเก็ตยังอยู่ในระยะแรก และมีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว เช่น ผู้ให้บริการ Speed Boat รายใหญ่ได้เริ่มนำไปใช้เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ทั้งในรูปแบบของการติดอุปกรณ์ระบบติดตามพิกัดไว้บนตัวเรือ และสายรัดข้อมือติดตัวนักท่องเที่ยว (Wristband) โดยบริการอื่นๆ ที่ CAT ได้พัฒนาร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อสนับสนุน Smart Tourism อาทิ แอปพลิเคชัน Smart Phuket 4.0, อุปกรณ์ Beacon เพื่อแจ้งให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติในภูเก็ตได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโดยตรงจากแหล่งข้อมูล เช่น บริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวหรือโปรโมชั่นดีๆ และ Digital Signage จอภาพดิจิทัลเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ฯลฯ

สำหรับ การพัฒนา Smart City ในโครงการต่อๆ ไป มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทำตามโมเดลเดียวกับจังหวัดภูเก็ต หากแต่ ในด้านรูปแบบการให้บริการที่จะพัฒนาขึ้นมานั้น จะขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละเมือง โดยบริการของ LoRa IoT by CAT สามารถปรับเปลี่ยน เพื่อให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะที่มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ Smart City มีแผนที่จะขยายไปในหัวเมืองใหญ่ๆ 18 จังหวัด โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 ของปี 2561 นี้จะทยอยเปิดให้บริการ LoRa IoT by CAT ในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา น่าน สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สงขลา สุราษฎ์ธานี นครราชสีมา มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี และนครปฐม รวมถึง 3 จังหวัดในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

บรรยากาศภายในงาน “Success to Phuket Smart City” ได้รับความสนใจจาก ผู้ประกอบการธุรกิจ และ สื่อมวลชน เป็นอย่างมาก โดยได้เดินเยี่ยมชมนวัตกรรมต่างๆ ที่แต่ละองค์กรนำมาจัดแสดง ไปพร้อมๆ กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT เพื่อทดลองใช้บริการและสอบถามรายละเอียดถึงประสิทธิภาพในการใช้งาน สิ่งที่สัมผัสได้ก็คือ ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่มีความมุ่งมั่นจะยกระดับการบริหารจัดการเมืองภูเก็ตในทุกมิติให้ก้าวสู่เป้าหมายเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์ เทียบชั้นสมาร์ตซิตี้ทั่วโลก สิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ เทรนด์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ แล้วนำเทคโนโลยีมาใช้บนโครงข่าย LoRaWAN ที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำ มีศักยภาพในการรองรับบริการ IoT ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของคนมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตอันใกล้นี้ คนไทย จะได้ใช้ชีวิตภายใต้ SMART CITY กันอย่างแน่นอน