CAT นำความรู้และเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิต เกษตรกร เพิ่มผลผลิต…ก้าวทันยุค ไทยแลนด์ 4.0

0
385
image_pdfimage_printPrint

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT นับจากการเป็นองค์กรผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและไอที มุ่งสู่การมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ CAT มีนโยบายและความตั้งใจที่จะดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนสังคมบนพื้นฐาน ผ่านทรัพยากรและบุคลากรที่มีอยู่อย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นด้าน เทคโนโลยีการสื่อสาร วิทยากรผู้มีความรู้ รวมไปถึงอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ด้วยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะชาวนาและเกษตรกร ที่ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ จะต้อง Provide เทคโนโลยีคู่กับองค์ความรู้ เพื่อกระจายไปในทุกพื้นที่ของสังคมไทย

“ที่ผ่านมา แนวคิดในการทำงานด้านสังคม แม้จะเป็นเรื่ององค์ความรู้ด้านการศึกษาและเทคโนโลยี แต่ CAT ไม่ได้เจาะไปที่กลุ่มคนกลุ่มไหนเป็นหลัก แต่มาถึงปัจจุบัน CAT มีเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น โดยมองว่าพี่น้องประชาชนในประเทศไทยส่วนใหญ่ 70% ทำอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้น จึงพุ่งเป้าไปที่ประชาชนกลุ่มนี้เป็นหลัก ด้วยการเข้าไปสนับสนุนด้านการศึกษา รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ยกระดับการทำอาชีพด้านเกษตรกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า และได้ผลผลิตที่ดี เหตุนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ CAT CSR COME TOGETHER ที่เชื่อว่า จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และก้าวทันเทคโนโลยี ซึ่งทุกๆ อย่างที่ภายใต้ Smart City คือความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำธุรกิจของสังคมไทย ”

พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ขยายความเพิ่มเติมถึงพื้นที่ทดลอง Smart Farmer ที่วังน้ำเขียว 1 แห่ง จังหวัดนครนายก 1 แห่ง และพื้นที่แสมดำ กทม. 2 แห่ง โดยการนำเอาอุปกรณ์ที่เป็น IoT ไปติดตั้ง สามารถควบคุมอุณหภูมิ รับข้อมูลความชื้นต่างๆ สามารถสั่งเปิด-ปิดน้ำ โดยอนาคตจะก้าวหน้ามากขึ้น เราต้องการสร้างให้เป็นโซลูชั่น Smart Farmer อยากให้ไปถึงว่าพืชพันธุ์แต่ละชนิดแตกต่างกัน มีความต้องการแร่ธาตุไม่เท่ากัน ต้องการทำถึงตรงนี้ได้เท่ากับเราช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตไปในตัว”
ทั้งนี้ โครงการ CAT CSR COME TOGETHER เริ่มทำเมื่อปีที่แล้ว โดย CAT ไปจับมือกับปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นเสมือนศูนย์กลางที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงกับเทคโนโลยีพอเพียง ทำงานร่วมกันได้ทั้งเกษตรกรพืชผัก ผลไม้ ชาวประมงก็สามารถที่จะใช้ IoT ได้เช่นกัน

“การนำ IoT มาใช้ใน Smart Farmer ทาง CAT ลงมือทำเอง ไม่ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายใด เพราะเรามองว่าจะช่วยเรื่องลดต้นทุนของเกษตรกร ที่ไม่ต้องมีค่าบริการด้วยราคาสูง ซึ่งจากตัวอย่างของชาวบ้านที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตกร ได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าโซลูชั่นของ CAT ยังไม่สมบูรณ์มากนักเพราะยังเป็นต้นแบบ”

ในเรื่องนี้ได้เริ่มทดลองที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน โครงการกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ดำเนินการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบให้กับเกษตรกรชุมชน CAT เข้ามาสานต่อการบริหารจัดการระบบควบคุมการใช้น้ำในภาคเกษตร ให้สามารถใช้งานได้จริงบนพื้นที่ 500 ไร่ของชาวบ้าน ด้วยการนำบริการโครงข่ายสื่อสัญญาณเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ อาทิ การให้บริการซิม my แบบเติมเงิน ซื้อบัตรเติมเงิน my รวมถึงบริการ C internet ให้แก่ชุมชนพื้นที่

“ในเรื่องของ Smart Farmer เร็วๆ นี้ เราจะทำ Facebook และ เว็บไซต์ เพื่อให้เกษตรกรติดต่อเราได้ และขอเวลาประมาณไตรมาส 3 หรือ 4 จะมีอีคอมเมอร์ซ รวมอยู่ด้วย ซึ่งความคาดหวังของ CAT อยากเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ประหยัดเวลา ซึ่งถ้า CAT สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรไทยได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก”

พันเอกสรรพชัย กล่าวต่อเนื่องว่าสิ่งที่กำลังโฟกัสคือ Smart Farmer ที่อยู่ภายใต้ Smart City นั้น ก็ยังอยู่ในกรอบใหญ่ของ CAT Learning Center ซึ่งเป็น CSR ของ CAT เพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ และปลูกฝังให้มีจิตอาสาถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ สอดคล้องกับโจทย์ทางธุรกิจของ CAT จึงมีการกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวในการใช้ IT อย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมในยุคดังกล่าว อาทิ

กิจกรรม CAT Learning Centerเขตตะวันออก สำนักงานบริการลูกค้า กสท เขตตะวันออก และทีม CAT CSR ได้ลงพื้นที่เพื่อนำความรู้การทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ บริหารจัดการและควบคุมการทำเกษตรกรรมให้กับนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนในพื้นที่โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านต่ำบุญศิริ อ.เมือง จังหวัดนครนายก ยกระดับไปสู่กระบวนการเรียนรู้พึ่งพาตนเองได้ ผลิตของใช้ต่างๆที่จำเป็นกับชีวิตประจำวัน ที่ได้จากผลิตผลในพื้นที่การเกษตรและวัตถุดิบแลกเปลี่ยนภายในชุมชนด้วยกันเอง อาทิ สเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง สบู่ แชมพู น้ำมันนวด และยังได้มีการขยายโอกาสขายสินค้าได้กว้างขึ้น ซึ่งสามารถใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินงานการเรียนรู้พึ่งพาตนเองอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งสำคัญสุด คือ โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านต่ำบุญศิริ ได้รับมอบโล่เกียรติคุณในฐานะโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นนำร่อง หรือ Local Sufficiency School :LSS จากกรมส่งเสริมการปกครองสู่ท้องถิ่น เมื่อปีที่แล้ว 2560 นับเป็นความภาคภูมิใจการจัดทำกระบวนการเรียนรู้พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง” รวมถึง อีกกิจกรรมหนึ่ง ในหัวข้อวัยเก๋าหัวใจไอที โดยขยายกลุ่มจากพนักงานภายในองค์กร สู่กลุ่มวัยเกษียณ ผู้สูงอายุในชุมชนรอบข้าง เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ ทักษะด้านไอที การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์และปลอดภัยสำหรับชุมชนผู้เกษียณอายุ

พันเอกสรรพชัย กล่าวในตอนท้ายถึงความสำเร็จของ CAT CSR ตลอดปี 2560 ได้ดำเนินกิจกรรม CAT Learning Center ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 15 แห่ง ตามเป้าหมายทั่วประเทศ ในเรื่องการส่งเสริมองค์ความรู้ ด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม โดยมีแกนกลางด้าน “ไอที” เข้ามาเกี่ยวข้องทุกเรื่อง ทุกพื้นที่” นับจากนี้เป็นต้นไป CAT ได้วางแนวทางการดำเนินงาน CAT CSR ที่มุ่งเน้นทางนวัตกรรมและทำให้เกิดความยั่งยืนได้ คือการคิดค้นกระบวนนำนวัตกรรมไปใช้ ให้สอดคล้องกับความต้องการวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่น หรือ ชุมชน ได้อย่างลงตัว สามาถก้าวทันยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง !