บริษัท ไทยเทคโนกลาส จำกัด หรือ BSG GLASS ร่วมมือกับ กลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ เดินหน้าโครงการอนุบาลและฟื้นฟูปะการัง ณ เกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตั้งเป้าหมายคืนความสมดุลให้ระบบนิเวศทางทะเลภายใต้แนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ด้วยการนำวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกระจกมาต่อยอดพัฒนาเป็นบ้านปะการัง
นายพลัฏฐ์ เลียวกิจสิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายนวัตกรรม BSG GLASS เปิดเผยว่า โครงการอนุบาลและฟื้นฟูปะการังริเริ่มขึ้นจากแนวคิดในการนำวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกระจกมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ ประกอบกับการเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมจากการถูกทำลายโดยมนุษย์และภัยธรรมชาติ ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ จึงหารือกับพันธมิตรจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำโครงสร้างบ้านปะการังที่ผลิตจากวัสดุกระจกเหลือทิ้งจำนวน 2 หลัง ลงไปวางใต้พื้นทะเลฝั่งอ่าวไทย บริเวณพื้นที่เกาะแสมสาร โดยพบว่าโครงสร้างดังกล่าวช่วยให้เกิดการยึดเกาะของตัวอ่อนปะการังและเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยให้สัตว์ทะเล อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวัสดุกระจกใช้ทรายเป็นส่วนประกอบหลักในกระบวนการผลิต เปรียบเสมือนการคืนทรายกลับสู่ท้องทะเล
“ผลจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งใจสานต่อโครงการด้วยการนำบ้านปะการังลงไปวางใต้พื้นทะเลอีก 2 หลัง โดยนอกจากตัวอ่อนปะการังที่ถูกปักยึดลงบนโครงสร้างโดยตรงแล้ว เรายังคาดหวังให้เกิดการเติบโตของปะการังกลุ่มใหม่ที่ละอองถูกพัดมาจากบริเวณอื่น เพื่อให้ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกกลายเป็นแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาประสิทธิภาพของบ้านปะการังให้สามารถวัดอุณหภูมิและค่าความใสของน้ำทะเล จากนั้นจะเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์บนชายฝั่ง อีกทั้งในอนาคตมีแผนจะขยายขอบข่ายของโครงการไปยังทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามันด้วย” นายพลัฏฐ์ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยะกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา จำนวนปะการังในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และกิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ โครงการอนุบาลและฟื้นฟูปะการังจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของตัวอ่อนปะการังได้เป็นร้อยละ 80 แต่โดยปกติการฟื้นฟูแนวปะการังใช้ระยะเวลาเฉลี่ยหลายปี ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การสร้างความตระหนักและจิตสำนึกให้เยาวชนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม