Better Than Cash Alliance เผย 10 แนวทางสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับภาครัฐและเอกชน
นิวยอร์ก–22 ก.ย.–พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ครั้งแรกกับการเผยแนวทางที่จะช่วยให้ภาครัฐและเอกชนสามารถเลิกใช้เงินสดได้ ขณะที่ McKinsey Global Institute เผยว่าการเงินดิจิทัลสามารถกระตุ้นจีดีพีได้ถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์
รายงานฉบับใหม่ จาก Better Than Cash Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือภายใต้การดูแลขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เผยแนวทาง 10 ประการที่ภาครัฐและเอกชนสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากเศรษฐกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลัก และก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่ใช้การชำระเงินแบบดิจิทัลแทน
โลโก้ – http://photos.prnewswire.com/prnh/20120919/CG77018LOGO
รายงานดังกล่าวได้รับการเผยแพร่พร้อมๆกับที่ McKinsey Global Institute เปิดเผยคาดการณ์ ว่า การเงินดิจิทัลจะกระตุ้นจีดีพีได้ถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 พร้อมสร้างงานใหม่ในทุกภาคส่วนราว 95 ล้านตำแหน่ง และช่วยให้เงินไม่รั่วไหลในประเทศเกิดใหม่ถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี
รายงานนี้ได้เปิดเผยหลักฐานจำนวนมากที่สนับสนุนข้อดีของการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เงินสดเป็นระบบชำระเงินแบบดิจิทัล แต่การเปลี่ยนผ่านค่อนข้างยากหากรัฐบาลต้องดำเนินการเพียงลำพัง เนื่องจากการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่ายทั้งในภาครัฐและเอกชน
Better Than Cash Alliance ได้ทำการศึกษาประเทศต่างๆ 25 ประเทศ ซึ่งรวมถึงอินเดีย ไนจีเรีย แทนซาเนีย กานา บราซิล เม็กซิโก และอื่นๆ จากนั้นจึงได้สรุป “ปัจจัยเร่ง” หรือแนวทาง 10 ประการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีอิทธิพลต่อการสร้างเศรษฐกิจที่ประชาชนใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลาย
Dr. Ruth Goodwin-Groen กรรมการผู้จัดการของ Better Than Cash Alliance กล่าวว่า “ผลวิจัยด้านการเงินดิจิทัลของ McKinsey Global Institute น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้นำของประเทศเกิดใหม่เร่งเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจที่ประชาชนใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกัน ทางเราก็ได้เปิดเผยแนวทางเพื่อช่วยให้ภาครัฐและเอกชนสามารถเลิกใช้เงินสดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถและจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ทั้งยังช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนด้วย”
รายงานดังกล่าวได้เน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบชำระเงินแบบดิจิทัล โดยได้นำเสนอหลักฐานที่แสดงถึงประโยชน์ของระบบชำระเงินดิจิทัล ดังนี้
– อินเดียสามารถประหยัดงบได้ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และสามารถลดการรั่วไหลของการชำระเงินได้ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงให้เป็นระบบดิจิทัล
– แทนซาเนียได้เปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐ (B2G) ให้เป็นระบบดิจิทัล ซึ่งสามารถลดการรั่วไหลของรายได้ราว 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และสามารถกระตุ้นจีดีพีได้ถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
– บราซิลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างรัฐบาลและประชาชนได้มากกว่า 30%
– เม็กซิโกได้ตั้งจุดบริการ POS ร่วม 20,000 จุด ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลมีการขยายตัวถึง 17% ในช่วงปี 2557-2558
การวิเคราะห์หลักฐานต่างๆเหล่านี้ เป็นที่มาของแนวทาง 10 ประการที่ประเทศต่างๆสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเร่งให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้จากภาษี และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แนวทางทั้ง 10 ประการ ประกอบด้วย
1. ส่งเสริมการรับชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล ทั้งในหมู่วิสาหกิจรายย่อย วิสาหกิจขนาดย่อม และวิสาหกิจขนาดกลาง เพื่อเปิดทางให้ลูกค้าหันมาใช้ระบบดังกล่าวกันมากขึ้น
2. ใช้เครือข่ายหรือแพลตฟอร์มที่มีอยู่เดิมในการให้บริการชำระเงินแบบดิจิทัล เพื่อให้การขยายบริการชำระเงินรูปแบบใหม่เติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้ต้นทุนต่ำ
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและใช้งานนวัตกรรม
4. สร้างมาตราฐานในการทำงานร่วมกัน เพื่อลดอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้ระบบชำระเงินรูปแบบใหม่กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
5. พัฒนาระบบพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดทางให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถยืนยันตัวตน รวมทั้งขับเคลื่อนระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลและการเข้าถึงบริการทางการเงิน ขณะเดียวกัน การคุ้มครองผู้บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานมั่นใจในความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และการควบคุมข้อมูล
6. เปลี่ยนการทำธุรกรรมประจำวันให้เป็นแบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถใช้จ่ายได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น และจะช่วยเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลด้วย
7. เปลี่ยนการชำระเงินของภาครัฐให้เป็นแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรม และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการชำระเงินรูปแบบใหม่มากขึ้น
8. เปลี่ยนการรับเงินเข้ารัฐให้เป็นแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการรับชำระเงินจากผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งจะช่วยลดการรั่วไหลของรายรับ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดรายรับมากขึ้น โดยมีกุญแจสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือของภาคเอกชน
9. สร้างระเบียบข้อบังคับที่ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมและส่งเสริมแนวปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบ โดยอาศัยความเข้าใจในช่องโหว่และอุปสรรคของระเบียบข้อบังคับเดิม พร้อมสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
10. ใช้นโยบายที่ช่วยกระตุ้นและพัฒนาระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลให้มีความสะดวกสบาย เพื่อผลักดันให้มีการนำระบบดังกล่าวไปใช้กันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายยิ่งขึ้น
การทำความเข้าใจแนวทางทั้ง 10 ประการนี้ จะช่วยให้รัฐบาลสามารถพัฒนาวิธีการที่เหมาะสม เพื่อนำความรู้เหล่านี้มาปรับใช้กับตลาดในประเทศของตนเอง นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังมาพร้อมกับชุดเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบชำระเงินแบบดิจิทัล
Better Than Cash Alliance คือกลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาล บริษัท และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านจากการชำระเงินด้วยเงินสดไปเป็นระบบดิจิทัล เพื่อบรรเทาความยากไร้และขับเคลื่อนการเติบโตแบบทั่วถึง โดยมีกองทุนพัฒนาเงินทุนแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ
สามารถรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.betterthancash.org หรือติดตามความเคลื่อนไหวของเราได้ทาง @BetterThan_Cash