BEM เปิดเผยผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2563 มั่นใจ สถานการณ์คลี่คลาย ปริมาณการเดินทางฟื้นตัว
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ชี้แจงผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ส่งผลให้ปริมาณการเดินทางลดลง แต่หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ประชาชนสามารถทำกิจกรรมในการดำรงชีวิตได้มากขึ้น ทำให้มีปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยหลังจากการผ่อนคลายมาตรการเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 63 ปริมาณจราจรบนทางพิเศษกลับมาเกือบ 900,000 เที่ยวต่อวัน จากที่เคยลดลงเหลือประมาณ 580,000 เที่ยวต่อวัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารรถไฟฟ้าทยอยกลับมาใช้เช่นกัน ล่าสุดประมาณ 140,000 เที่ยวต่อวัน จากที่เคยลดลงไปอยู่ที่ 90,000 เที่ยว ในวันทำการ อย่างไรก็ตาม BEM ยังคงให้ความร่วมมือภาครัฐ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส Covid-19
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 508 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 351 ล้านบาทหรือร้อยละ 40.9 ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้และการเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้เงินลงทุนใน TTW จากการรับรู้ส่วนแบ่งรายได้เป็นการรับรู้เงินปันผล โดยในไตรมาสนี้บริษัทมีรายได้รวม จำนวน 3,889 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 จำนวน 236 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค Covid-19
ในด้านของต้นทุนการให้บริการ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 44 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ขณะที่ค่าตัดจำหน่ายลดลงเนื่องจากต้นทุนสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างทางด่วนของทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอ บี ซี ตามสัญญาสัมปทานฉบับเดิมได้ถูกตัดจำหน่ายหมดแล้วในไตรมาสนี้
สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย และค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ระยะที่ 2 สถานีหัวลำโพง – สถานีหลักสอง ดอกเบี้ยของเงินกู้ที่เคยบันทึกเป็นต้นทุนโครงการได้ถูกบันทึกเป็นดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุนตามมาตรฐานบัญชี
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทได้เลื่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแทนการจ่ายเงินปันผลประจำปีจากกำไรของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.09 บาท เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ถือหุ้นจากการเลื่อนประชุมดังกล่าว โดยจ่ายปันผลระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563