Bain & Company, Google และ Temasek คาดรายได้จากบริการการเงินดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุ่งจาก 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 แตะ 3.8-6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568
คาดยอดชำระเงินทางดิจิทัลพุ่งเกินหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 เมื่อลูกค้าหันมาใช้บริการการเงินดิจิทัลถึงจุดสำคัญ
Bain & Company, Google และ Temasek ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ในหัวข้อ Fulfilling its Promise – The Future of Southeast Asia’s Digital Financial Services Industry รายงานดังกล่าวพบว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ใหญ่และเติบโตเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคประมาณ 75% ในภูมิภาคดังกล่าวเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ไม่เพียงพอ (underbanked) หรือไม่ก็เข้าถึงไม่ได้เลย (unbanked) บริการการเงินดิจิทัลจึงเป็นทางเลือกในการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่ฐานลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะภูมิภาคนี้มีอัตราการเข้าถึงและใช้งานสมาร์ทโฟนสูง ซึ่งอำนวยความสะดวกต่อลูกค้าในการใช้บริการทางการเงิน
รายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจผู้บริโภคและผู้ค้า เสริมด้วยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและฐานข้อมูลต่าง ๆ ผลการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในรายงาน 2019 e-Conomy SEA ครอบคลุมตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
รายงานดังกล่าวพบว่า เมื่อประเมินจากบริการต่าง ๆ แล้ว บริการชำระเงินดิจิทัลเป็นส่วนที่ก้าวหน้ามากที่สุด และน่าจะมีมูลค่าธุรกรรมเกินหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 โดยบริการชำระเงินดิจิทัลและบริการโอนเงินดิจิทัลได้มาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว ขณะที่บริการอื่น ๆ เช่น การกู้ยืม การลงทุน และประกันภัย ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง ถึงอย่างนั้น บริการแต่ละประเภทในกลุ่มนี้น่าจะขยายตัวปีละกว่า 20% ไปจนถึงปี 2568 บริการเงินกู้ดิจิทัลคาดว่าจะเติบโตขึ้นจนกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้มากที่สุด นำโดยนวัตกรรมสุดล้ำในแวดวงการปล่อยกู้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจ SME
Stephanie Davis กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Google กล่าวว่า “เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างน่าประทับใจ และคาดว่าจะแตะหลัก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 โดยบริการชำระเงินดิจิทัล ซึ่งโตพร้อมกับอีคอมเมิร์ซและบริการเรียกรถผ่านแอปนั้น ได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญแล้ว และขณะนี้กำลังทำหน้าที่เป็นประตูเพื่อทำให้บริการการเงินดิจิทัลเป็นที่ทั่วถึงมากขึ้น”
กลุ่มผู้ที่เข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ไม่เพียงพอ ซึ่งมีอยู่ 98 ล้านคนใน 6 ประเทศใหญ่สุดของอาเซียนนี้ นับว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากที่สุด และเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแท้จริงในตลาดบริการการเงินดิจิทัล อย่างไรก็ดี บริการการเงินดิจิทัลไม่ได้เป็นยาครอบจักรวาลในการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ เพราะนวัตกรรมฟินเทคและแพลตฟอร์มเทคโนโลยีผู้บริโภคยังไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่ม unbanked อย่างที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน โดยรัฐบาลและบริษัทโทรคมนาคมจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการรองรับคนกลุ่มนี้ พร้อมผนวกรวมการเข้าถึงของตนเองเข้ากับศักยภาพอันแข็งแกร่งในเรื่องผลิตภัณฑ์และการรับประกันจากพันธมิตร
“เราคาดหวังว่าผู้บริโภคจะให้การยอมรับฟินเทคและแพลตฟอร์มเทคโนโลยีผู้บริโภคมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่มีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาอุดช่องว่างกับผู้เล่นรายเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม บริษัทที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำนั้น จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้รักษาประตูแก่ผู้บริโภคและผู้ค้า” Aadarsh Baijal หุ้นส่วนและผู้นำฝ่ายดิจิทัลประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Bain & Company กล่าว “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเดินหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพก็ต่อเมื่อมีระเบียบกำกับดูแลรองรับ มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีการระดมทุนยืดหยุ่น”
แม้จะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคและผู้ค้าจะถอยห่างจากธนาคารอย่างสิ้นเชิง เพราะธนาคารให้การเข้าถึงเงินทุนและดูแลเงินฝาก โดยการบริหารจัดการด้านการจัดหาเงินทุนและงบดุล ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการปรับธุรกิจเงินกู้ผ่านฟินเทค หากตลาดเปิดรับการแชร์ข้อมูลผ่านระบบธนาคารแบบเปิดแล้ว Bain คาดว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องโมเดลธุรกิจ โดยมีโอกาสที่มากกว่าเดิมในการพลิกวงการ
Rohit Sipahimalani หัวหน้ากลุ่มธุรกิจด้านการลงทุนของ Temasek กล่าวว่า “การลงทุนที่เน้นในเรื่องโซลูชันล้ำสมัยที่กระตุ้นให้เกิดการนำไปใช้นั้น จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของภาคบริการการเงินดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อร่วมมือกับภาคธุรกิจ รัฐบาล และชุมชนต่าง ๆ แล้ว เรามีความมุ่งมั่นในการช่วยผลักดันให้การเงินเป็นที่เข้าถึงและทั่วถึงทั้งภูมิภาคมากขึ้น”
โลโก้ – https://photos.prnasia.com/prnh/20191029/2625110-1LOGO