ASEAN Business Awards โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แห่งฟิลิปปินส์ ประกาศเพิ่มสาขารางวัลใหม่ในปีนี้ เพื่อยกย่องโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม หรือ ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business – IB) ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับคู่ค้า ผู้ผลิตวัตถุดิบ ลูกค้า หรือแรงงานจากชุมชนรายได้น้อย
ผู้ชนะรางวัล ASEAN Inclusive Business Awards รายแรก ได้แก่ Generika Drugstore ของฟิลิปปินส์ จากการที่บริษัทช่วยให้ชุมชนชนบทที่ยังขาดแคลนระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน สามารถเข้าถึงยาสามัญราคาถูกได้ นอกจากนี้ Generika ยังจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ฟรีแก่ชุมชนเหล่านี้ โดยในปีนี้ได้มีการให้คำปรึกษาเฉลี่ย 110 ครั้งที่ร้าน Generika ทั่วประเทศ
สำหรับผู้เข้ารอบสุดท้ายในสาขา IB ได้แก่ Coffee for Peace (CFP) จากฟิลิปปินส์, Olam International จากสิงค์โปร์, บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด จากประเทศไทย, KP Co. Ltd จากประเทศลาว และ Batik Boutique จากมาเลเซีย
CFP ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและการแปรรูปกาแฟแก่ชุมชนในมินดาเนา ซึ่งได้รับความเสียหายจากความขัดแย้งโดยกลุ่มติดอาวุธ การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และการทำเหมืองที่ขาดความรับผิดชอบ เดิมทีเกษตรกรในพื้นที่เคยจำหน่ายเมล็ดกาแฟในราคาเฉลียกิโลกรัมละ 80 เซนต์สหรัฐ แต่ปัจจุบันสามารถจำหน่ายเมล็ดกาแฟในราคาเกือบ 5 ดอลลาร์สหรัฐ
Olam International เป็นธุรกิจการเกษตรที่มีโครงการ IB อยู่ในเมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งสอนเทคนิคการแปรรูปและการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟชวาให้แก่เกษตรกรกว่า 1,000 คน ส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 1,000% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด ทำงานร่วมกับครอบครัวชาวนายากไร้ 1,800 ครอบครัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานตลาดยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันชาวนาเหล่านี้มีรายได้มากกว่าชาวนาไทยโดยเฉลี่ยถึง 14 เท่า
KP Co. Ltd. จัดทำโครงการเพาะปลูกแตงกวา ซึ่งดำเนินการฝึกอบรมและส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนทางตอนใต้ของกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว ปัจจุบันผู้ร่วมโครงการ 400 คน สามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเดือนจากเดิม 60.00 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 180.00 ดอลลาร์สหรัฐ
Batik Boutique ทำงานร่วมกับช่างฝีมือ 177 คน ซึ่งประมาณ 60% เป็นช่างผู้หญิงที่ไม่มีรายรับแน่นอน Batik Boutique ช่วยให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีทักษะในการผลิตเครื่องนุ่งห่มและของฝากคุณภาพสูงเพื่อที่จะได้มีรายได้หาเลี้ยงครอบครัว ปัจจุบันมีผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่า 1,400 คน
“บัดนี้เราได้เห็นแล้วว่า ธุรกิจแบบมีส่วนร่วมนั้นก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ดังนั้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันเพื่อใช้แนวทางนี้ในการดำเนินธุรกิจ การส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจแบบมีส่วนร่วมจะช่วยให้เราสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น นำไปสู่การลดความยากจน และเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนอาเซียนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” คุณคาเฟริโน โรดอลโฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าว
สื่อมวลชนติดต่อ
Anthony Quijano
อีเมล: apquijano@teamasia.com
โทร. +63-917-824-9109