AMR Asia ผู้นำด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง ติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า&ศูนย์ซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าสายสีเขียว

0
770
image_pdfimage_printPrint

AMR Asia ผู้นำด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง (Railway Engineering) ผู้ติดตั้งระบบเดิน รถไฟฟ้า และระบบจัดการศูนย์ซ่อมบำรุง Depot Facilities โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต

รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต เริ่มเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ จำนวน 1 สถานี จากสถานีหมอชิต (N8) ไปยังสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดทดลองให้บริการเดินรถไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ทางผู้บริหารบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด นำโดยคุณมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เข้าร่วมพิธีเปิด ซึ่งบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ภายใต้กิจการร่วมค้า BSA เป็นผู้ออกแบบติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า จำนวนทั้งสิ้น 16 สถานีและศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง ระบบต่าง ๆ ประกอบไปด้วย ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC), ระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling System), ระบบสื่อสาร เช่น กล้อง CCTV, ระบบประกาศด้วยเสียง และข้อความ (PA, PID), ระบบนาฬิกา, ระบบสำรองไฟฟ้า ในกรณีระบบไฟฟ้าหลักขัดข้อง เพื่อให้สามารถให้บริการเดินรถได้ตามปกติ, ระบบควบคุมและสั่งการระยะไกล (SCADA System) เพื่อควบคุมการจ่ายไฟฟ้าในบริเวณสถานี รางรถไฟฟ้าและติดตามสถานะการทำงานของระบบต่าง ๆ บนสถานี เพื่อควบคุมความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น กรณีเกิดเพลิงไหม้ กรณีขัดข้องของระบบบริการเดินรถไฟฟ้า ข้างต้น รวมถึงการขัดข้องของระบบอำนวยความสะดวกในสถานี เช่น ลิฟต์โดยสาร บันไดเลื่อน ระบบไฟฟ้าแสงสว่างในสถานี รวมถึงจัดทำระบบวิศวกรรมโยธาส่วนเพิ่มจากระบบโครงสร้างหลัก และปรับงานวิศวกรรมโยธาให้ตรงกับการใช้งานเฉพาะด้านของแต่ละสถานี รวมถึงการก่อสร้างอาคารสถานีไฟฟ้าย่อยขนาด 115 kV โดยในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้านั้น ทางบริษัทฯ เป็นผู้ออกแบบ จัดหาและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ศูนย์ซ่อมบำรุงทั้งหมด เช่น งานทำความสะอาดรถไฟฟ้า, งานตรวจสอบระบบราง รวมถึงงานซ่อมบำรุงตัวรถไฟฟ้า
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ที่สถานีหมอชิต ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ บริเวณห้าแยกลาดพร้าวและสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง (บริเวณสถานีคูคต) รวมระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทางรวม 16 สถานี ประกอบด้วย สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีกรมป่าไม้ สถานีบางบัว สถานีกรมทหารราบที่ 11 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ สถานีสายหยุด สถานีสะพานใหม่ สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ สถานีกม. 25 และสถานีคูคต
นอกจากนี้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และระบบสาธารณะอื่น ๆ ทั้งยังบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารที่สถานีหมอชิตให้กระจายมาที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว เพื่อลดการจราจรหนาแน่นบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ถนนพหลโยธินรวมถึงถนนวิภาวดีได้อีกทางหนึ่ง
ภายในปลายปี 2562 จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี เพื่อลดความแออัดบริเวณสถานีหมอชิต ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการตลอดเส้นทางภายในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยรองรับผู้โดยสารสูงสุดถึง 1,200,000 คนต่อวัน
จากภาพ เรียงลำดับจากซ้ายมาขวา
ลำดับที่ 1 คุณสุริยันต์ กระเร็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด
ลำดับที่ 2 คุณมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด
ลำดับที่ 3 คุณวิวัฒน์ นิติสุนทรางกูร ผู้อำนวยการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด
ลำดับที่ 4 คุณสุดา พุทธศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด
469 ซอยประวิทย์และเพื่อน ถนนประชาชื่น แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร
วณิชยา จิรศานต์ชัย
โทรศัพท์ 02-589-9955 Ext: 250
อีเมล์ wanitchaya@amrasia.com